ชำแหละ บจ. ชิงเค้กโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ใครได้กี่เมกฯ เช็คเลย

07 เม.ย. 2566 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2566 | 06:31 น.

ชำแหละ บจ. ชิงเค้กโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ใครได้กี่เมกฯ เช็คเลย หลัง กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมไว้ให้แล้ว

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 

ทั้งนี้ มีผู้ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้นรวม 386 ราย เพื่อเข้าสู่กระบวนพิจารณาคัดเลือก โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) วันที่ 5 เมษายน 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 175 ราย รวมปริมาณการเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ จากกำหนดรับซื้อทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์ 

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ผ่านการประมูลดังกล่าว พบว่า  

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ไปมากที่สุด จำนวน 27 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 1,623.91 เมกกะวัตต์ ประกอบด้วย 

  • พลังงานลม GULF จำนวน 9 โครงการ (622 MW)
  • พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน GULF จำนวน 12 โครงการ (700.2 MW) 
  • พลังงานแสงอาทิตย์ GULF จำนวน 6 โครงการ (301.71 MW)

รองลงมาเป็น บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL 

โดยชนะประมูลไปทั้งหมด 17 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 832.4 เมกะวัตต์  ประกอบด้วย 

  • พลังงานลมจำนวน 2 โครงการ ปริมาณ 180 เมกะวัตต์ 
  • พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จำนวน 3 โครงการ ปริมาณ 83.6 เมกะวัตต์ 
  • พลังงานแสงอาทิตย์ 12 โครงการ ปริมาณ 568.8 เมกะวัตต์ 


นอกจากนี้ ยังมีรายอื่นอีก ได้แก่ 

  • บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM จำนวน 15 โครงการ ประเภทโซลาร์ฟาร์ม-วินด์ฟาร์ม รวม 339.3 เมกะวัตต์ 
  • บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ประเภทโซลาร์ฟาร์ม 5 โครงการ รวม 69.96 เมกะวัตต์ 
  • บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG 5 โครงการ ประเภทโซลาร์ฟาร์ม รวม 12 เมกะวัตต์ 
  • บริษัท เสริมสร้าง เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SSP ประเภทโซลาร์ฟาร์ม รวม 154.5 เมกะวัตต์ และพลังงานลม รวม 16 เมกะวัตต์
  • บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC 2 โครงการ รวม 16 เมกะวัตต์ 
  • บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH รวม 20 เมกะวัตต์ 
  • บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE 18 โครงการ ประเภทโซลาร์ฟาร์ม รวม 113 เมกะวัตต์
  • บริษัท วินด์ มหาสารคาม 1 จำกัด ในเครือ EA 1 โครงการ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินกำลังผลิต 90 เมกะวัตต์ 
  • บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับแบตเตอร์รี่ 17 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 315.196 เมกะวัตต์  ,พลังงานลม 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ และพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม 1 โครงการกำลังการผลิตติดตั้ง 4.291 เมกะวัตต์  
  • บริษัท ในเครือน้ำตาลมิตรผล (เอ็มพี เอ็นเนอยี่ จำกัด) 16 โครงการ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 16 โครงการ กำลังผลิต 92.22 เมกะวัตต์
  • บริษัท ดับบลิวเอชเอ โซล่า จำกัด เครือ WHA 3 โครงการ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน(BESS) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกำลังผลิต 16 เมกะวัตต์