สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาด"คาร์บอนเครดิต" ว่า คาร์บอนเครดิตมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องโดย ตลาดคาร์บอนเครดิต ถือเป็นตัวกลาง จุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ลงทุนหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อนำคาร์บอนเครดิต มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดมาตรการควบคุมคาร์บอน ได้แก่ การเก็บภาษีคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากการประกอบกิจการในประเทศ หรือภาษีจากการนำเข้าสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต้องมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ผ่านกลไกตลาดคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนของธุรกิจตัวเอง
อย่างไรก็ดี สถิติในปี 63 ที่ผ่านมา ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจมีมูลค่าสูงถึง 1,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในปี 73 สนค.คาดว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ความต้องการคาร์บอนเครดิตอาจมีมูลค่าสูงถึง 30,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ เพราะปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เริ่มเป็นที่นิยมในหลายประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นหนึ่งในตลาดคาร์บอนใหญ่ที่น่าสนใจ
ซึ่งที่ผ่านมามีการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระหว่างภูมิภาคกว่า 15,000 ล้านตัน และยังเตรียมบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ในปี 66 รวมถึงยังมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซในภาคการขนส่งทั้งเครื่องบิน เรือ รถ สิ่งก่อสร้างสำหรับการเกษตร การจัดการของเสียอีก
ส่วนสหรัฐอเมริกาก็อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) โดยตั้งเป้าหมายจัดเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนสูง ซึ่งเก็บจากผู้ผลิตของสหรัฐ และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 69 ขณะที่จีนที่น่าจะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนแห่งใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้ตลาดคาร์บอนเครดิตโลกยิ่งเติบโต
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. มองว่าจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจภาคเกษตรไทย เนื่องจากไทยมีการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต 58 สายพันธุ์ เช่น ต้นสะเดา ต้นนางพญาเสือโคร่ง ต้นนนทรี ต้นปีบ ต้นอินทนิลน้ำ ต้นสัก ต้นประดู่ พะยอม แคนา จามจุรี
อีกทั้งยังมีการปลูกผลไม้ เช่น ต้นทุเรียน มะม่วง และมะขาม ซึ่งนอกจากส่งออกเป็นผลไม้ได้แล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ถึง 2 เด้ง ทั้งการขายผลไม้โดยตรง รวมถึงสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนฯ ต่ำจะได้เปรียบกว่าสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เพราะปัจจุบันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นกฎระเบียบโลกสมัยใหม่ ที่ถูกนำมาใช้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันทางการค้าเพื่อป้อนสู่ตลาดหลักอย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป
สำหรับข้อมูลเมื่อปี 2559 ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปกว่า 350 ล้านตัน และเริ่มมีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนครั้งแรกเมื่อปี 57 ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ สามารถนำไปใช้ชดเชยคาร์บอน ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังไม่มากนักแค่ 7.61% ของโลก แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 65 มีปริมาณ 1.19 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้น 314.3% มูลค่า 128.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,222.7% และราคาเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 108.22 บาท เพิ่มขึ้น 219.2%
ส่วนการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตในอนาคต โดยประเมินจากข้อมูลปี 2563 พบกว่า 81 องค์กรจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเฉลี่ยราว 160 ล้านตันต่อปี หากหน่วยงานเหล่านั้นต้องการที่จะเป็นหน่วยงานปลอดคาร์บอน จะมีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยในปี 63-73 สูงถึง 1,600 ล้านตัน ซึ่งเติบโตนับเป็นพันเท่าเลยทีเดียว
การที่จะทำให้ไทยเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากตลาดคาร์บอนเครดิตได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รัฐบาลไทยจะต้องมีบทบาทสำคัญ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ และขับเคลื่อนนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น การขับเคลื่อนบีซีจี โมเดล การผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงการส่งเสริมภาคการเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการนำเทคโนโลยีเพื่อดักจับคาร์บอน การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอนในเชิงพาณิชย์มาใช้ อีกทั้งต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ การสร้างมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงส่งเสริมองค์ความรู้ในการเข้าร่วมให้แก่ธุรกิจการเกษตรไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนไทยจะต้องตื่นตัวรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น