บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ประกาศเป้าหมายชัดเจนในการลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) ลง 10% ภายในปี 2573 สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจ “Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” ที่มุ่งส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจภายในภูมิภาคอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนเอ็กโก กรุ๊ป สู่เป้าหมายสูงสุดในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593
ในปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ปได้ตั้งงบลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยมุ่งขยายธุรกิจไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียน ในพื้นที่ที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว มีเป้าหมายขยายกำลังเพิ่มขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,202 เมกะวัตต์ (เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวมสูงถึง 1,249 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ทั้งจากชีวมวล พลังงานนํ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และเซลล์เชื้อเพลิง
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน มีนโยบายที่จะไม่ลงทุนในโรงไฟฟ้าหรือธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติม จากที่มีกำลังผลิตอยู่ราว 1,356 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ และพยายามผลักดันให้หันไปใช้เชื้อเพลิงสะอาดอย่างไฮโดนเจนและแอมโมเนียมาทดแทนถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ในปริมาณที่มากขึ้นแทน ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ในปี 2570
การที่เอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงสะอาดอย่างไฮโดนเจนและแอมโมเนียนั้น เนื่องจากเห็นว่า การจะมุ่งไปพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ยังไม่สามารถตอบโจทย์หรือการพึ่งพาเป็นพลังงานหลักได้ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลทั่วไป เนื่องจากไม่มีเสถียรภาพพอหรือไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากจะพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนได้จะต้องลงทุนมากกว่าเดิมถึง 5 เท่าจากปกติในการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ควบคู่ด้วย
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนลงทุนแล้ว การหันไปลงทุนในเชื้อเพลิงสะอาดในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีอยู่ น่าจะตอบโจทย์หรือมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน
อีกทั้ง กระแสของโลกกำลังมุ่งเน้นในการนำไฮโดนเจนและแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ทำให้แนวโน้มต้นทุนการผลิตไฮโดนเจนและแอมโมเนียมีต้นทุนตํ่าลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสของเอ็กโก้ กรุ๊ป ต่อยอดธุรกิจเข้าไปลงทุนต้นนํ้าอย่างการตั้งโรงงานผลิตไฮโดนเจนและแอมโมเนีย และธุรกิจการขนส่งถึงมือผู้ใช้ได้อีกทางหนึ่ง
นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเอ็กโก กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ในโรงไฟฟ้า เซลล์เชื้อเพลิงกังดง เกาหลีใต้ ขนาดกำลังผลิต 19.8 เมกะวัตต์ ใช้ไฮโดรเจนที่มาจากก๊าซธรรมชาติ และออกซิเจน เป็นสารตั้งต้นหลักในการผลิตไฟฟ้าและความร้อน ซึ่งไม่มีการเผาไหม้
รวมถึงบริษัท เอ็กโก ลินเดน ทู บริษัทย่อยที่เอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้นทั้งหมด ในสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการนำก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงกลั่น ที่มีองค์ประกอบเป็นไฮโดรเจน นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้าลินเดน โคเจน หน่วยที่ 6 กำลังผลิต 172 เมกะวัตต์ สามารถรองรับการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีไฮโดรเจนผสมอยู่ได้สูงสุดถึง 40% ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่โรงไฟฟ้าลินเดนปลดปล่อยปกติในแต่ละปี
อีกทั้ง กำลังปรับปรุงโรงไฟฟ้า “ไรเซ็ก” ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 609 เมกะวัตต์ ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่ 49% เพื่อนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินเคซอน ขนาดกำลังผลิต 503 เมกะวัตต์ ที่ฟิลิปปินส์ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาผสมใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย
ที่สำคัญโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี กำลังผลิต 1,423 เมกะวัตต์ ในไทย ที่เอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้น50 % อยู่ระหว่างการศึกษานำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในสัดส่วน 20% (หรือมากกว่า) ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
รวมถึงการลงทุนโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงที่ผลิตได้จากไฮโดรเจน ขนาดกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ที่โรงไฟฟ้าคลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่คาดว่าจะตัดสินใจดำเนินการได้ในปีนี้อีกด้วย ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของเอ็กโก กรุ๊ป ให้สามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutral) ภายในปี 2593 ได้
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3881 วันที่ 23 – 26 เมษายน พ.ศ. 2566