“ถ้าจะขายสินค้าแบบเดิม มีกระบวนการผลิตแบบเดิมบางที อาจจะขายไม่ได้เพราะกระบวนการผลิตหรือวัตถุดิบอาจไปพัวพันกระทบกับสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่รู้ตัว แล้วจะทำอย่างไรถ้าส่งไปแล้วไม่มีใครซื้อ จริงๆแล้ว มาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบางทีอาจถูกพลิกมุมมองไปที่เรื่องกีดกันทางการค้าด้วยซ้ำไป”
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ฉายภาพเพื่อให้เห็นผลกระทบ จากมาตรการที่นำไปสู่ “การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)” ของทั่วโลก ที่กำลังเร่งรัดให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเร็วขึ้น โดยต่างมีผลต่อรูปแบบและทิศทางการค้าระหว่างประเทศอย่างชัดเจนในบริบทการค้าแนวใหม่ โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกต่างมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมถึงประเทศไทย ซึ่งการค้าในช่วงเวลาต่อจากนี้ประเทศผู้นำเข้าปลายทางจะคำนึงถึงกระบวนการผลิตสินค้า และกำหนดกฎระเบียบ ซึ่งจะอยู่ในลักษณะเป็นมาตรการหรืออุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures/Barriers)
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบายว่า ที่ผ่านมารัฐบาลตอบโจทย์ในประเด็นโลกจากการมีนโยบายวาระแห่งชาติ BCG ย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมดำเนินการ
กระทรวงพาณิชย์ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นปลายน้ำเพราะใกล้ชิดกับผู้ประกอบการและประชาชน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เรียกว่าต้นน้ำที่จะต้องเกาะติดปัญหาเหล่านี้ในเชิงเทคนิค เช่น กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เข้าไปมีส่วนร่วมในหลายเรื่องหลักๆ ยกตัวอย่างเช่น การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นกรอบพหุภาคี กรอบทวิภาคี แม้กระทั่งกรอบเอเปก อาเซียน โดยหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับ BCG ประเด็นสิ่งแวดล้อมมาตลอด และพยายามผลักดันประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแสดงความคิดเห็น ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาเรื่องรักษาผลประโยชน์ของประเทศในการที่จะเข้าไปเจรจาเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
“ผมคิดว่าประเทศที่เป็นคู่ค้าไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่ๆ อย่าง อียู สหรัฐฯ ที่เป็นประเทศหลักที่รักษาสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของการกำหนดมาตรการทางการค้าต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาษี พาณิชย์พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในมุมมองการค้ากับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นงานโดยตรง ทุกกรอบการค้าทุกเวทีการเจรจาเราเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้มาตลอดอ มีความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการที่จะกีดกันเกี่ยวกับมาตรการทางสิ่งแวดล้อม เช่น คาร์บอนเครดิต ไม่ว่าจะเป็น สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนี เป็นตัวอย่างของประเทศที่เข้าไปมีความร่วมมือระหว่างกันในหลายรูปแบบ โดยกรมเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศจะเป็นหน่วยงานหลัก รวมถึง WTO ที่เป็นกรอบใหญ่ที่สุดในกรอบพหุภาคีก็มีการพูดคุยเรื่องนี้”
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคิดค้นโครงการขึ้นมาเกี่ยวกับเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้ากลุ่ม BCG ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน ตั้งแต่การให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการทางการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงคอนเซ็ปต์การผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในต่างประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ของประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น “50 BCG Heroes” ปั้นแบรนด์ในสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่ใช้โมเดลธุรกิจ BCG ในการเพิ่มมูลค่า และมีสินค้าที่น่าสนใจตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง โครงการ Local+ ที่จะถูกนำมาใช้เป็นกลไกในการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างความเข้มแข็งให้ฐานรากของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย รายกลาง หากพวกเขาเข้มแข็ง นั่นหมายถึงเศรษฐกิจของไทยก็จะเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างมีศักยภาพด้วยเช่นกัน
“เรื่องคาร์บอนเครดิตหรือมาตรการทางสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่น่าห่วงเพราะสามารถเข้าใจกฎกติกาของโลกและศึกษาว่าทำอย่างไร จะตอบโจทย์มาตรการเหล่านี้ของประเทศผู้นำเข้า จะผลิตอย่างไรที่จะไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อม หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์แค่อำนวยความสะดวกการเจรจา การประสานงาน เพราะอยู่โดยตรงกับกระบวนการผลิตอยู่แล้วมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ แต่กลุ่มคนที่ต้องให้ความใส่ใจก็คือ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน กระทรวงมีโครงการให้ความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้น โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักนโยบายยุทธศาสตร์ทางการค้าอย่างน้อยที่สุดอยากให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่าโลกของเราเปลี่ยนไป ต้องปรับตัว”
มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (MEPs) บรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ถือเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ในฐานะประเทศ “รับจ้างผลิต” ที่พึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างมาก
นายกีรติ อธิบายว่า มาตรการ CBAM ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แม้ 7 กลุ่มสินค้า จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ SME เพราะเป็นอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะปรับตัว มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น นับจากนี้คงได้เห็นมาตรการที่จะเร่งรัดให้ผู้ประกอบการต้องหันมาปรับการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงอย่างแน่นอน
“มีต้นทุนเพิ่มขึ้นในเรื่องของปรับกระบวนการผลิตต่างเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรู้ดีและพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้กระทบกับต้นทุนน้อยที่สุด แต่ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยทำได้ แต่เราก็กังวลว่าสิ่งต่างๆจะยุติธรรมพอหรือไม่ หรือจะพลิกมุมไปเรื่องการกีดกันทางการค้ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งแน่นอนเราต้องให้ความรู้ความเข้าใจและพยายามที่จะทำให้ได้และก็คิดว่าไม่ใช่แค่อียูหรืออเมริกาอีกหน่อยทั้งโลกอาจจะมีมาตรการแบบนี้ออกมามากมาย ฉะนั้นในกระบวนการผลิต การหาตลาดต่างๆ ก็ต้องพยายามหูตากว้างไกล ในเรื่องของความเคลื่อนไหวของโลกและสิ่งแวดล้อม”