ซัดกันนัว "ธีระชัย" โต้กลับ "สุพัฒนพงษ์" ปมโซลาร์ลุงตู่เอื้อทุนใหญ่

08 พ.ค. 2566 | 01:14 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2566 | 01:14 น.

ซัดกันนัว "ธีระชัย" โต้กลับ "สุพัฒนพงษ์" ปมโซลาร์ลุงตู่เอื้อทุนใหญ่ หลังแย้งข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ ไม่มีค่าพร้อมจ่าย ระบุราคารับซื้อเพียง 2.0724-3.1014 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก (Thirachai Phuvanatnaranubala - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล) โดยมีข้อความระบุถึงการโต้กลับนายสุพัฒนพงษ์ทุกประเด็นเรื่องโซลาร์ลุงตู่ ว่า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้แย้งข้อมูลที่ผมเผยแพร่ 

นายสุพัฒนพงษ์ อธิบายว่า

  • การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ ไม่มีค่าพร้อมจ่าย ราคารับซื้อเพียง 2.0724-3.1014 บาท/หน่วยเท่านั้น ช่วยทำให้ค่าไฟของประเทศถูกลง 

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

  • รัฐบาลลุงตู่ควรจะซื้อไฟฟ้าจากประชาชน แทนที่จะซื้อจากบริษัทยักษ์ใหญ่
  • การซื้อไฟฟ้าจากประชาชน ก็ไม่มีค่าพร้อมจ่ายเช่นกัน และต้นทุนก็ไม่แพ้ที่ผลิตโดยบริษัทยักษ์ใหญ่
  • แต่ผลประโยชน์จะไหลเข้าไปในกระเป๋าประชาชนโดยตรง โดยไม่ต้องห่วงข้อกังวลว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะในการประมูลหรือไม่ 

นายสุพัฒนพงษ์ อธิบายว่า

  • ในช่วงปี 2567-2573 จะมีโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ที่มีค่าพร้อมจ่ายหมดอายุ ถูกปลดออกจากระบบคิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 9,800 เมกะวัตต์ จึงเปิดประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทน

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

  • โรงไฟฟ้าฟอสซิลที่หมดอายุ ควรปิดตามกำหนด แต่การเพิ่มกำลังผลิตในประเทศนั้น ควรให้ลำดับความสำคัญ ดังนี้
  • อันดับหนึ่ง ไฟฟ้าประชาชน
  • อันดับสอง ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่มีแบตเตอรี่พร้อมจ่าย (Firm) โดย กฟผ.
  • อันดับสาม ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่มีแบตเตอรี่พร้อมจ่าย (Firm) โดยบริษัทเอกชน

นายสุพัฒนพงษ์ อธิบายว่า

  • รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้ง Solar Rooftop โดยกำหนดอัตรารับซื้อในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

  • ราคา 2.2 บาทต่อหน่วยนั้น ต่ำเกินไป ควรใช้ระบบหักลบกลบหน่วยหรือ Net Metering เพื่อให้ประชาชนได้ผลตอบแทนสูงขึ้น จะคุ้มการลงทุนเร็วขึ้น
  • ขณะนี้ ประชาชนต้องยื่นขออนุญาตถึงสามหน่วยงาน ซึ่งใช้เวลานานและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง
  • รัฐบาลลุงตู่จึงควรเปลี่ยนวิธีการอนุญาต ให้เป็นแบบทั่วไป ตัวอย่างเช่นที่ปฏิบัติในประเทศอินเดีย

นายสุพัฒนพงษ์ อธิบายว่า
การรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยหรือ Net Metering ไม่สามารถทำได้ทันทีทั่วประเทศ เพราะ

  • อัตราค่าไฟฟ้าที่ครัวเรือนขายออกมา (ราคาขายส่ง) จะต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจัดหาให้ครัวเรือนเสมอ (ราคาขายปลีก) ดังนั้น ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามาก จะได้เปรียบครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อย เกิดความไม่เป็นธรรม

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

  • ครัวเรือนที่ลงทุนมาก ผลิตเองและใช้ไฟฟ้ามาก ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์มากกว่ารายที่ใช้ไฟฟ้าน้อยเป็นธรรมดา ไม่ได้ก่อปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม
  • อย่างไรก็ดี ในระบบ Net Metering นั้น รัฐยังสามารถจะกำหนดให้ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ ให้ต้องรับภาระส่วนต่างระหว่างราคาขายส่งกับราคาขายปลีกบางส่วน 

นายสุพัฒนพงษ์ อธิบายว่า

  • การผลิตไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบจะส่งผลกระทบให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุล เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจาก Solar มีความผันผวน หากมีการติดตั้ง Solar Rooftop ปริมาณมาก จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เพิ่ม ซึ่งค่าใช้จ่ายปรับปรุงระบบจะทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

  • การที่รัฐลงทุนครั้งเดียว จะสามารถบริหารการรับซื้อไฟ Solar ได้นานตลอดไป เป็นเรื่องที่คุ้มค่าอยู่แล้ว
  • นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ ไฟฟ้าที่ผลิตจากครัวเรือน ถ้าตั้งอยู่ใกล้กับผู้ใช้ไฟรายใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงาน สถานีชาร์จ EV
  • ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ดังกล่าว ในช่วงกลางวันก็จะดึงไฟไปใช้ในระยะทางใกล้ๆ ก่อนส่งไปเข้าระบบอยู่แล้ว
  • ทั้งนี้ ทั่วโลกจะบีบให้ทุกประเทศเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ดังนั้น การไฟฟ้าไทยจึงต้องลงทุนเพื่อเตรียมรับมืออยู่แล้ว

นายสุพัฒนพงษ์ อธิบายว่า

  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในข้อ 1. และข้อ 2. ประชาชนทุกคนจะต้องรับภาระ ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตั้ง Solar Rooftop หรือไม่ก็ตาม ทำให้ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 500 หน่วยต่อเดือนกว่า 22 ล้านครัวเรือน ( 90% ของผู้ใช้ไฟ) ต้องมารับภาระแทนผู้มีรายได้สูง 2 ล้านครัวเรือน (10%) ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะและสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ได้

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

  • เนื่องจากมีครัวเรือนจำนวนหนึ่งที่จะไม่สามารถติดตั้ง Solar Rooftop ได้ เพราะหลังคามีขนาดเล็ก หรือโครงสร้างบ้านไม่อำนวย
  • ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ใช้ไฟจำนวนน้อยอยู่แล้ว
  • อย่างไรก็ดี นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ หนึ่ง อบต. หนึ่ง โซลาร์ฟาร์ม จะทำให้ผลประโยชน์ผลิตไฟฟ้าประชาชน กระจายลงไปสู่ผู้ใช้รายย่อยในชนบทอย่างกว้างขวาง
  • นอกจากนี้ สำหรับไฟฟ้าจำนวน Solar Rooftop 5,000 เมกะวัตต์ ผมคำนวณภาระดังกล่าวได้เพียงประมาณหน่วยละ 2-3 สตางค์เท่านั้น
  • ซึ่งรัฐสามารถกำหนดให้ผู้ติดตั้งไฟฟ้า Solar Rooftop เป็นผู้รับภาระได้
  • แต่ไฟฟ้า Solar Rooftop ช่วยประหยัดการนำเข้าก๊าซ LNG ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟทั้งระบบ แก่ผู้ใช้ทุกราย
  • และยังจะเกิดคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการส่งออกได้ด้วย
  • ทั้งนี้ รัฐควรทบทวนวิธีปฏิบัติในปัจจุบัน ที่รับซื้อไฟจากผู้ผลิตที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ที่ราคาแพงมาก
  • ในรูป 1 ข้างล่างของ Topnews Online  จะเห็นได้ว่า บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ที่ขายไฟราคาแพงที่สุดห้าอันดับแรก นั้น
  • ทั้งห้าบริษัท มีชื่อที่เริ่มต้นด้วยอักษร G ขายไฟเป็นเงิน 33,591 ล้านบาท ราคาขายหน่วยละ 9.8500 บาท ถึง 6.1080 บาท
  • กฟผ. ที่รับซื้อไฟราคาแพง แต่ขายได้ในราคาเพียงหน่วยละ 4.7 บาท จึงขาดทุนมหาศาล หนี้พอกพูนจะถึงระดับ 150,000 ล้านบาทแล้ว
  • รัฐจึงควรระงับปัญหานี้ทันที โดยลดปริมาณซื้อไฟแพงจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เปลี่ยนไปซื้อไฟจากประชาชนแทน
  • เพราะยิ่งซื้อไฟราคาแพง กฟผ. ก็จะขาดทุนเพิ่มขึ้น และจะต้องปรับค่า ft แก่ประชาชนสูงขึ้นในอนาคต

นายสุพัฒนพงษ์ อธิบายว่า

  • การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะเกิดภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นทั้งฝั่งการซื้อและฝั่งการขาย ซึ่งในปัจจุบันยังใม่มีกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

  • ในเมื่อพรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายจะบูมไฟฟ้าภาคประชาชน ดังนั้น ก็จะขอให้กระทรวงการคลังแก้ไขปรับปรุงประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ซึ่งการแก้ไขปรับปรุง เพื่อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ประชาชนเฉพาะกรณีนั้น ทำได้ไม่ยาก

นายสุพัฒนพงษ์ อธิบายว่า

  • ผู้ผลิตไฟจาก Solar Rooftop จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็น Digital Meter ให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้า และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประชาชนในภาพรวม

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

  • รัฐควรเปลี่ยนมิเตอร์ธรรมดา ให้เป็น Digital Meter มานานแล้ว เพราะนอกจากจะบริหารจัดการการส่งไฟฟ้าได้สะดวกขึ้น 
  • ยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย โดย Digital Meter สามารถส่งข้อมูลไปตามสายไฟฟ้า จึงจะไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปเดินจดมิเตอร์ตามบ้านเช่นเดิม
  • การลงทุนเช่นนี้ รัฐควรรับค่าลงทุน เพราะช่วยลดค่าใช้จ่าย และเป็นการปรับระบบการทำงานให้ทันสมัยขึ้น เพื่อรองรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล