"ปตท."รุกธุรกิจบริหารจัดการน้ำ คาร์บอนเครดิตมุ่งเป้าสู่ "Net Zero"

19 พ.ค. 2566 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2566 | 03:39 น.

"ปตท."รุกธุรกิจบริหารจัดการน้ำ คาร์บอนเครดิตมุ่งเป้าสู่ "Net Zero" พร้อมดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน และความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายนพดล ปิ่นสุภา  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียม ขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.ได้ดำเนินการร่วมกับภายในกลุ่ม กำหนดแผนธุรกิจใหม่ภายใต้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย  การก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Management Business)

รวมถึงแผนธุรกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. อาทิ  เตรียมการเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลงทุนในธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) เป็นต้น เพื่อรองรับสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ได้แก่ การเข้าสู่ตลาด Carbon Credit Trading และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น  ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามที่กำหนดไว้
 

สำหรับกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. มีผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/66 คิดเป็น 31% ของกำไรสุทธิของ ปตท. หรือ 8,748 ล้านบาท  ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธกิจหลัก และก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond พร้อมเติบโตในธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

ปตท.รุกธุรกิจบริหารจัดการน้ำ คาร์บอนเครดิตมุ่งเป้าสู่ Net Zero

โดยในช่วงที่ผ่านมา  สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ร่วมลดผลกระทบแก่ประชาชน และบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย การจัดหา LNG แบบตลาดจร (SPOT) ในช่วงเวลาเร่งด่วน จัดหาและสำรองน้ำมันดิบในภาวะการขาดแคลนทั่วโลก  รวมถึงการบริหารต้นทุนพลังงาน ปรับการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย 

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กล่าวว่า ปตท. ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก  

ซึ่งสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน รวมถึงยังมีการนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center  รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงานผันผวน เป็นต้น

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. กล่าวว่า หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ มีสำนักงานการค้าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มีปริมาณการค้ารวมมากกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ 

สำหรับกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ประกอบด้วย ธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและสายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย รวมถึง  ธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก