"ชัชชาติ"หนุนอาคารสีเขียวลดพลังงาน มุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

22 พ.ค. 2566 | 02:27 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2566 | 02:27 น.

"ชัชชาติ"หนุนอาคารสีเขียวลดพลังงาน มุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เผย กทม. เตรียมหารือกับรัฐบาลใหม่ เพื่อร่วมมือกันหลายเรื่อง ทั้งการใช้รถไฟฟ้าช่วยลดปัญหา PM 2.5 ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

นายชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ปี 2573 คือ การลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 19% ของ Business as usual หรือ BAU เทียบแล้วประมาณ 13 เมตริกตันต่อปีของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครปล่อยก๊าซดังกล่าว ประมาณ 43 ล้านเมตริกตันต่อปี เป้าหมายคือลด 19% ภายในปี 2573 และปี 2593 มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์ ซึ่งต้องเร่งดำเนินโครงการและกิจกรรมจำนวนมาก เพื่อให้ถึงเป้าหมาย เช่น 

สนับสนุนการใช้อาคารสีเขียว ลดการใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ การทำสวน 15 นาที การปลูกต้นไม้ล้านต้น การทำโรงบำบัดน้ำเสียเพื่อลดก๊าซมีเทน จากการสำรวจ พบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจาก 4 ส่วน ประกอบด้วย การใช้พลังงานภายในอาคาร การขนส่ง เรื่องขยะและน้ำเสีย
 

"สิ่งสำคัญคือความหวังจากรัฐบาลใหม่ที่มีแผนจะดำเนินการเรื่องนี้ เช่น การติดโซล่าเซลล์ตามหลังคาในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมากขึ้น ปัจจุบัน กทม.ได้เตรียมข้อมูลเพื่อหารือกับรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ เพื่อร่วมมือกันในหลายเรื่อง ทั้งการใช้รถไฟฟ้า จะช่วยลดปัญหา PM 2.5 ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เรื่องพลังงานไฟฟ้า การทำให้กรุงเทพฯเย็นลง ลดการทำงานหนักของแอร์ พื้นที่สีเขียว ซึ่งล้วนอยู่ในแผนกรุงเทพฯน่าอยู่ แต่ทุกคนต้องช่วยกันทำอย่างต่อเนื่องอย่าปล่อยให้ปัญหาเข้ามากระทบทีแล้วตื่นตัวกันที ไม่เกิดประโยชน์ การแก้ต้องเอาจริงเอาจังในระยะยาว" 

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการคำนวณว่า กรุงเทพมหานครมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละเท่าใด เพื่อประเมินในระดับองค์กร ระดับบุคคล ไปจนถึงระดับของกิจกรรมต่างๆ ที่ประกอบขึ้น 

นอกจากประเมินในระดับต่างๆ แล้ว ยังให้ความสำคัญกับโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเผาชีวมวลหรือการเผาป่า ทำลายป่า ล้วนส่งผลต่อก๊าซเรือนกระจก เนื่องจาก หน้าที่ของต้นไม้คือการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการเจริญเติบโต หากถูกเผาทำลาย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในต้นไม้จะถูกปล่อยกลับคืนชั้นบรรยากาศ ยิ่งต้นไม้น้อยยิ่งทำให้ตัวเก็บซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง และส่งผลต่อมนุษย์ในที่สุด
 

นอกจากนี้ การเผายังปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิดความร้อนในระดับบรรยากาศซึ่งมีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และละอองการเผานี้เองที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ตามมา ดังนั้น การเผาก่อให้เกิดผลกระทบ 2 เรื่อง คือ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาว และ ฝุ่น PM2.5 ซึ่งกระทบต่อระบบทางเดินหายใจมนุษย์ ปัจจุบัน ทุกประเทศล้วนต่อต้านการเผาในทุกรูปแบบ เนื่องจากส่งผลกระทบมหาศาล และน่าเสียดาย ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งเก็บซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มายาวนานกว่าจะโต แต่กลับถูกเผาทำลายเพียงไม่กี่นาที ดังนั้น แนวทางแก้ไขสำคัญคือ ต้องหยุดการเผาทุกรูปแบบ

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีแผนทดลองนำร่องวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 3 เขต คือ เขตดินแดง บางขุนเทียน เขตประเวศ ซึ่งเป็นการวัดโดยละเอียดในทุกมิติ บนพื้นที่ที่มีลักษณะต่างกัน โดยกำหนดวัดตั้งแต่อาคารบ้านเรือน การจราจร สนามกีฬา รถยนต์ ศูนย์อนามัย หรือทุกอย่างที่มีการใช้พลังงาน เพื่อต้องการค่าที่ได้ในแต่ละปีมาดำเนินการป้องกันแก้ไขให้ตรงจุด

อย่างไรก็ตาม ยังสามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่บนพื้นที่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ในส่วนของภาคเอกชน ต้องให้ที่ปรึกษาจากโยโกาฮามาช่วยประสาน โดย กทม.อาจใช้นโยบายจูงใจ เช่น เรื่องผังเมือง เรื่องกฎหมายควบคุมอาคาร เช่น หากใช้อาคารสีเขียวจะได้รับเครดิตโบนัส ปัจจุบันมีอยู่แล้วในกฎหมายผังเมือง แต่ยังไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากการขออนุญาตไม่ง่าย ต้องมีการพิสูจน์ว่าประหยัดพลังงานและไม่กระทบสิ่งแวดล้อมจริง