SCGCสร้าง รง. ต้นแบบเทคโนโลยีดักจับCO2 มุ่งเป็นกลางทางคาร์บอน

06 ก.ค. 2566 | 05:19 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 05:19 น.

SCGCสร้าง รง. ต้นแบบเทคโนโลยีดักจับCO2 มุ่งเป็นกลางทางคาร์บอน เดินหน้าร่วมมือกับ IHI บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น เปลี่ยนเป็นโอเลฟินส์เบาแก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ได้ดำเนินการร่วมมือกับไอเอชไอ (IHI) บริษัทจาก ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและก่อสร้างขนาดใหญ่ ศึกษาและสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) เพื่อทดสอบเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Dioxide Capture and Utilization (CCU)

ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนเป็นโอเลฟินส์เบา บรรเทาปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) สะท้อนการดำเนินธุรกิจด้วย ESG (Environmental, Social and Governance) อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับความร่วมมือในครั้งดังกล่าวนี้ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (New Energy and Industrial Technology Development Organization: NEDO) หน่วยงานภาครัฐบาล 

ทดสอบเทคโนโลยี CCU เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกระบวนการผลิต มาทำปฏิกิริยาเคมีกับไฮโดรเจน จนได้มาเป็นโอเลฟินส์ตัวเบา และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ให้สามารถหมุนเวียนนำมาใช้ในกระบวนการผลิต 

และช่วยลดปริมาณการใช้วัตถุดิบแนฟทาได้อีกทางหนึ่ง ช่วยลดการปล่อย CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่ง SCGC สามารถใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกในอนาคตต่อไป โดยจะทำการศึกษาความเป็นไปได้และเชื่อมต่อระบบกับโรงงานผลิตโอเลฟินส์ปัจจุบันในกลุ่มธุรกิจ SCGC ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 และทำการทดสอบจนถึงปี 2569

อย่างไรก็ดี SCGC มุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ของปีฐาน 2564 ภายในปี 2573 
 

อีกทั้งยังตั้งเป้าปริมาณการขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ SCGC Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่ง SCGC ดำเนินงานด้วยแนวทาง Low Carbon Low Waste ได้แก่ การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการและอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น 

การใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาและลงทุนในเทคโนโลยีที่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (carbon offset) เช่น การปลูกป่าในพื้นที่ลักษณะต่างๆ รวมถึงป่าชายเลน