โลกกำลังกรีดร้อง ประมวลสัปดาห์แห่ง วิกฤติ “โลกรวน”

11 ก.ค. 2566 | 09:10 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 13:11 น.

โลกกำลังกรีดร้องใส่เรา ประมวลเหตุการณ์ สัปดาห์แห่ง วิกฤติ “ภาวะโลกรวน” เกิดภัยพิบัติธรรมชาติหลายประเทศทั่วโลก

"ภาวะโลกร้อน" เกิดขึ้นจริง และรุนแรงขึ้น เราไม่ได้กำลังเผชิญแค่คลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ยังมีปรากฏการณ์อื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นผลตามมาจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงถูกเรียกว่า Climate Change หรือ "ภาวะโลกรวน" ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบทำให้รวนไปถึงทุกด้านของชีวิต ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกใบนี้

ปี 2023 ถือเป็นหนึ่งในปีที่โลกเผชิญกับสถานการณ์ภาวะโลกรวน ทั้งภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้ง พายุและคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ขณะองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกหรือ WMO ได้เตือนรัฐบาลทุกประเทศให้เตรียมรับมือสภาพอากาศแบบสุดขั้ว จากอิทธิพลของ "ปรากฏการณ์เอลนีโญ" ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในเวลานี้ 

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN)  อันโตนิโอ กูเตอร์เรส  ระบุว่า ภาวะโลกรวนรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้แล้ว หากเรายังคงชะลอมาตรการที่จำเป็น ผมคิดว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่สถานการณ์ระดับหายนะ หลังผลการวิเคราะห์อย่างไม่เป็นทางการออกมาว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยในช่วง 7 วัน ณ สิ้นสุดวันพุธที่ 5 กรกฎาคม เป็นสัปดาห์ที่ร้อนสุดเท่าที่โลกเคยเจอมา

แต่ถ้าสังเกตแค่ระยะสั้นเพียงสัปดาห์ต้นเดือนกรกฎาคม พบว่ามีเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ทั่วโลกกำลังเผชิญเปรียบเหมือน "โลกกำลังกรีดร้อง" ใส่ผู้คนบนโลกใบนี้ 

เริ่มตั้งแต่ "น้ำท่วม" ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านชาวญี่ปุ่นบนเกาะคิวชู ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 เกาะสำคัญของประเทศ เผชิญฝนตกหนักที่สุดชนิดไม่เคยพบไม่เคยเจอ จนเกิดน้ำท่วมรุนแรง และดินโคลนถล่ม เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ศพ สูญหายอีก 3 ราย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ออกคำเตือนไปยังประชาชนบนเกาะคิวชู ระมัดระวังอันตรายจากการเกิดดินโคลนถล่มลงมาอีก โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เชิงเขา หลังเกิดฝนตกหนักแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่เกาะนี้ แต่ขณะเดียวกัน สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ลดระดับเตือนภัยบริเวณทางตอนเหนือของเกาะคิวชู ซึ่งมีประชาชนกว่า 1.7 ล้านคน

ขณะที่เกิดฝนตกหนักใน กรุงนิวเดลี และหลายรัฐทางภาคเหนือของอินเดีย ทำให้มีดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก หลายพื้นที่ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ศพ กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียระบุว่า นิวเดลีได้รับฝน 153 มิลลิเมตร (6 นิ้ว) ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เป็นวันที่มีฝนตกชุกที่สุดของเมืองในเดือนกรกฎาคม นับตั้งแต่ปี 1982

สเปน ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ที่เมืองซาราโกซา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ สูงสุดในรอบทศวรรษ นอกจากนี้ยังเกิดพายุลูกเห็บในหลายเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ระดับน้ำท่วม รายงานระบุว่า จุดที่หนักสุดคือ สวนสาธารณะเวนิส กระแสน้ำซัดรถหลายสิบคันพังเสียหาย ประชาชนต้องปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน ตำรวจและเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องระดมกำลังออกช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในรถ ติดอยู่ในบ้านเรือน 

สหรัฐฯ พายุฟ้าคะนองทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ฝนตกหนักต่อเนื่องนานหลายชั่วโมงในบริเวณฮัดสัน แวลลีย์ของรัฐนิวยอร์กในสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (9 ก.ค.66) ทำให้เกิดน้ำท่วมถนนและบ้านเรือนในร็อกแลนด์ เคาน์ตี, พัตนัม เคาน์ตี และออเรนจ์ เคาน์ตี ขณะที่พยากรณ์อากาศเตือนว่า บางพื้นที่ของรัฐนิวยอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย รัฐคอนเนคติกัต รัฐนิวเจอร์ซี และรัฐแมรีแลนด์ ได้รับคำเตือนอาจมีฝนตก 1-2 นิ้วต่อชั่วโมงตลอดวันจันทร์ที่ผ่านมา 

หิมะตกแอฟริกาใต้ ในปีนี้ 2023 เกิดหิมะอีกครั้ง หลังจากแนวปะทะอากาศเย็นพัดผ่านเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในนครโจฮันเนสเบิร์ก และพื้นที่สูงในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เกิดขึ้นได้ยาก หลายพื้นที่มีหิมะปกคลุมบนหลังคาและสนามหญ้า สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนจำนวนมากในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก บางคนเกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นหิมะตกมาก่อนด้วยซ้ำ 

รายงานระบุ่วา ก่อนหน้านี้โจฮันเนสเบิร์กพบหิมะตกในปี 2539 และ 2555 โดยสำนักงานบริการสภาพอากาศแอฟริกาใต้ระบุว่าอุณหภูมิในเมืองลดแตะ -3 องศาเซลเซียส เมื่อคืนวันอาทิตย์ (วันที่ 9 ก.ค.66) สำหรับ โจฮันเนสเบิร์ก ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า 1,700 เมตร และเข้าสู่จุดสูงสุดของฤดูหนาวในเขตซีกโลกใต้

ข้อมูล 

‘Heaviest rain ever’ causes deadly floods and landslides in Japan

Disruptive Widespread Snow Still Expected 

Rare snowfall in parts of South Africa

japantimes.co.jp

Extreme flooding overwhelms New York roadways and kills 1 person