เปิดใจบอสใหญ่ SCG ก่อนโบกมือลา ส่งต่อ Net Zero ความท้าทายใหม่

09 ส.ค. 2566 | 04:43 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 05:13 น.

ปลายปีนี้(2566) องค์กรที่มีอายุกว่า 100 ปีอย่างเอสซีจี กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่มือผู้บริหารคนต่อไป ขณะที่นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี หนึ่งในขุนพลที่ผ่านยุคกู้วิกฤตมาหลายวิกฤต กำลังจะพ้นเก้าอี้เบอร์ 1 เอสซีจีในวัยเกษียณ

เปิดใจบอสใหญ่ SCG ก่อนโบกมือลา ส่งต่อ Net Zero ความท้าทายใหม่

"รุ่งโรจน์"ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเส้นทางบริหารงานที่มีทั้งความท้าทาย ความภาคภูมิใจ รวมถึงชีวิตหลังเกษียณที่ตั้งใจอยากทำเป็นสิ่งแรก ๆ

  • 8 ปีกับผลงานที่ภูมิใจ

ตลอดระยะเวลา 8 ปีของการทำงานในบทบาทซีอีโอของ “เอสซีจี”  นายรุ่งโรจน์ เผยว่า ผลงานที่ภาคภูมิใจ และมองว่ามีความท้าทาย ได้แก่ เรื่อง ESG ( Environment Social และ Governance) หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน จากจุดเริ่มต้นที่คิดว่า SCG ควรจะกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability Development - SD แบบใหม่ จากแนวทางเดิมที่ทำในลักษณะของ CSR มีการทำงานกับชุมชน ทำเรื่องนํ้า และ Circular Economy กระทั่งประมาณ ปี 2563-2564 ตนได้คุยกับทีม Enterprise Brand Management ว่าเอสซีจีต้องรีแบรนด์เรื่องของ SD

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

“ผมคิดว่าต้องทำเรื่อง ESG-E คือ Environment สิ่งแวดล้อม ซึ่งเราค่อนข้างมีจุดอ่อน และต้องลงมือทำจริงจัง ประกอบกับมีจุดแข็งของเราเข้ามาเสริมอีก 2 ด้าน คือ S-Social เพราะเราทำเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาสังคมค่อนข้างมาก และเรื่องที่เราทำได้ค่อนข้างดีคือ G- Governance ทำให้ได้มาเป็น ESG 4 Plus ไล่มาเป็นข้อ ๆ แล้วก็ทำอีเวนต์ ESG Pathway ช่วงปลาย ปี 2021(2564) ได้เชิญสื่อ ผมได้ขึ้นไปพูดเรื่องนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทางเอสซีจี เริ่มให้ความสำคัญกับ ESG และมีการปรับใช้เรื่อง ESG ในแผนธุรกิจจริง ๆ

ดังนั้นเรื่อง ESG จึงเป็นความภูมิใจของทีมงานที่ทำให้ตรงนี้เกิดขึ้นมาได้ และ ESG เป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นโจทย์ของ SCG ที่ต้องสานต่อ เพื่อทำให้เราอยู่ได้ในระยะยาวเป็นเหตุผลแรก แต่เหตุผลใหญ่กว่านั้นคือ องค์กรของเราอยู่มาได้เป็นร้อยกว่าปีด้วย “คน” การที่เรามีคนเก่งๆ อยู่ในองค์กร คำถาม คือ ทำอย่างไรองค์กรของเราจึงจะสามารถดึงดูดคนเก่งๆ มาทำงานกับเราได้”

  • ผ่านหลายวิกฤต “โควิด”โหดสุด

ซีอีโอเอสซีจี กล่าวอีกว่า การบริหารเอสซีจีช่วงที่ผ่านมาได้ผ่านในหลายวิกฤต แต่ยอมรับว่าวิกฤตที่หนักที่สุดและมีความท้าทายคือ “วิกฤตโควิด” ซึ่งถือเป็นบทเรียน และเป็นตัวทดสอบอันหนึ่งว่า เอสซีจีเป็นองค์กรที่มีภูมิคุ้มกันขนาดไหน อันที่ 2 คือ จะ rebound ได้อย่างไร โดยพลิกวิกฤตทำให้เป็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรต่อไป

“ผมรู้สึกสบายใจ ที่เจอโควิด แต่ยังเอาตัวรอดมาได้ ธุรกิจของเราก็ได้รับผลกระทบเช่นกันกับทุก ๆ คน แต่เราสามารถพลิกกลับมาทำในหลาย ๆ เรื่องได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องที่ทำตอนนั้น เราเอา SCG Packaging เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำ IPO ซึ่งปกติทำ IPO ก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว มาทำช่วงโควิดด้วย ต้องถือว่าไม่เลว”

เปิดใจบอสใหญ่ SCG ก่อนโบกมือลา ส่งต่อ Net Zero ความท้าทายใหม่

อันที่ 2 โครงการ Chemicals ที่เวียดนาม เจอโควิด หลายคนต้องกักตัว ต้องหยุดงาน แต่โครงการก็ผ่านมาได้แทบไม่ล่าช้าเลย แต่จากที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย (Safety) เป็นหลัก และต้องเช็คระบบมากกว่าปกติ ทำให้โครงการล่าช้าเพียง 1-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งเวลานี้โครงการอยู่ในช่วงการทดสอบระบบและมีการผลิตจริงแล้ว เป็นอีกโครงการหนึ่งที่สามารถผ่านพ้นมาได้และเป็นความภูมิใจ

  • Net Zero  ภารกิจท้าทาย

นอกจากวิกฤติโควิดเป็นเรื่องท้าทายแล้วและจบแล้วในช่วงของตน ยังมีอีกอันหนึ่งคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)  เอสซีจี ได้ประกาศกำหนดการเป็นองค์กรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ.2593 และมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงอย่างน้อย 20% ภายในปีพ.ศ.2573 โดยครอบคลุมทั้งธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศจะเป็นเรื่อง ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้ามองนับจากนี้ไปความท้าทายในการทำธุรกิจของเอสซีจี ก็ต้องเป็นเรื่อง Net Zero แต่ก็ยังมีอย่างอื่นอีกมากมายที่เป็นความท้าทาย 

“ในแง่ของภาคธุรกิจเอง อุตสาหกรรมของเรา ที่ผมมองว่าอยู่ในช่วง transition(การเปลี่ยนแปลง) อย่างเช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์วัสดุก่อสร้างที่ transition into a lower carbon industry  อันนี้เห็นชัดเลยจะไปยังไงล่ะ เหมือนกับ สมมติผมน้ำหนัก 80 กิโลกรัม อยู่ไปไม่ได้แล้วล่ะ มันขึ้นลิฟท์ไม่ได้แล้ว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็น 50 กิโลกรัม ลดเยอะนะ หนักขนาดนี้นะ งานที่ต้องทำ จากน้ำหนัก 80 เหลือ 50 จึงจะผ่าน แล้วทำงานได้มากกว่าเดิมด้วย เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำด้วย”

เคมีคอลส์ ก็เช่นกัน มันเป็นยุคที่ energy landscape ของโลก ขึ้นกับ raw material landscape ด้วย  ซึ่งจะทำให้   อุตสาหกรรม oil & gas ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของปิโตรเคมีเปลี่ยนแน่นอน ต่อไปการใช้น้ำมันลดลงแน่ ใช้รถอีวีกันหมดแล้ว นอกจากนี้ความท้าทายเรื่องการเตรียมคน เหมือนเตรียมลูก ที่ไม่มีวันหยุด คือจะมั่นใจได้อย่างไรว่าลูกเก่งพอ และจะสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ นี่เป็นอีกเรื่องสำคัญ ซึ่งเก่งนี่ยังเฉย ๆ แต่ต้องดูแลตัวเองได้  เพราะฉะนั้น เรื่องคนมันเป็นเรื่องซึ่งทำไม่มีวันจบ

  • ยึดหลักทำงานเหมือนเป็นเจ้าของ

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า ในแง่หลักการทำงานนั้น  ประการแรก มองว่าความสำเร็จนี่มันเป็นผล  เวลาเราทำงานก็ไม่ได้นึกถึงว่าจะประสบความสำเร็จ ก็นึกว่าทำให้ดีที่สุดตามกำลังที่เราสามารถทำได้ แล้วก็พยายามปรับไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สำเร็จ ประการที่ 2 ตั้งแต่ทำงานมา ได้นึกถึงบริษัท นึกถึงงาน เหมือนตนเป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นเจ้าของแบบ Own แต่ทำตัวเหมือนกับเป็นเจ้าของ  ยกตัวอย่าง จะขายของต่อ ถ้าสมมติพรุ่งนี้เป็นวันหยุด แต่มีโอกาสในเชิงค้าขาย ก็มาเปิดร้านขาย ในเชิงการทำงานก็เช่นเดียวกัน ความหมายคือ ไม่ได้คิดว่างานที่ผมทำจบที่ 5 โมงหรือ 6 โมงเย็น แล้ววันจันทร์ถึงวันศุกร์ ก็ทำงานไปเรื่อย ๆ ถ้าวันไหนเหนื่อย เป็นช่วงวันธรรมดาไม่สบายก็หยุด  แต่ว่าถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ปกติก็ทำไปเรื่อย ๆ

“ผมใช้ชีวิตส่วนตัว กับใช้ชีวิตงานเหมือนกัน หลักการเดียวกัน เรื่องนี้ถ้าเป็นชีวิตการทำงานไม่ทำ ชีวิตส่วนตัวแล้วก็ไม่ทำเหมือนกัน เรื่องไหนในส่วนตัวเราทำ ก็ทำเหมือนกันงานเหมือนกัน แยกกันไม่ค่อยออก เพราะฉะนั้น จะบอกว่าชีวิตการทำงานผมเองมันเหมือนกับไม่ได้เรียกว่าเป็นเจ้าของ แต่เหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เราก็ทำของเราไปเรื่อย"

  • ประเมินภาพเศรษฐกิจไทย

เมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย  นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เป็นช่วงที่ Recover ไปได้ดี เพราะว่านักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามา ความมั่นใจของนักธุรกิจบางส่วนเริ่มดีขึ้น ถ้าที่เป็นภาคการส่งออกยังไม่ค่อยดี จากเศรษฐกิจในตลาดที่เราส่งออกสิค้าไปยังไม่ค่อยดี คนที่ส่งออกไปในยุโรปและอเมริกา เริ่มกระเทือนค่อนข้างมาก แต่เศรษฐกิจในประเทศเป็นช่วง Recover น่าจะยังมีกำลังไปได้ คิดว่าเศรษฐกิจไทยยังพอไปได้ ไทยเงินเฟ้อไม่มาก ดอกเบี้ยก็ยังขึ้นไม่มาก เพราะฉะนั้น ผลกระทบกับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่เรียกว่าขาดแคลนยังไม่มากนัก   

ในแง่ธุรกิจเอสซีจีคิดว่าธุรกิจที่ ฐานอยู่ในเมืองไทยยังพอได้ เช่น ซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ ฐานบางส่วนอยู่ในเมืองไทย เคมีคอลส์ ส่งออก 50% และตลาดส่งออกปัจจุบันค่อนข้าง weak(อ่อนแอ) และเราวางแผนเรื่อง IPO แต่ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด ต้องว่ากันไปตามสภาพตลาด

ส่วนเรื่องการขยายตัวไปอาเซียน มองว่าเอสซีจีได้ทำถูกแล้ว  เพราะประชากรของอาเซียนมีมาก ปัจจุบันรวมกว่า 800 ล้านคนแล้ว ไม่รู้จะขึ้นไปอีกขนาดไหน ต้องบอกว่า ตัวตลาดเองมีโอกาสให้เราเติบโตได้อีก ก็มาถูกทางแล้ว และถ้าพูดถึงตอนช่วงที่ตนเป็นผู้จัดการใหญ่ ก็มีเรื่องของเวียดนาม เรื่องอะไรต่าง ๆ ดูไปได้ดี และมีคุยกันถึง 2 ประเทศ จีนกับอินเดีย  มองว่าอยากจะบุก 2 ประเทศนี้ด้วย  แต่ทั้งจีนและอินเดียมีโจทย์ที่ต่างจากอาเซียนมาก และแต่ละประเทศใหญ่กว่าอาเซียน  

  • สิ่งที่อยากทำหลังเกษียณ

เมื่อถามว่าชีวิตหลังเกษียณอยากจะทำอะไรที่ยังทำได้ไม่เต็มที่  นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า จะเป็น เรื่องธรรมะ ตนศึกษาพุทธศาสนาอยู่เรื่อย ๆ  คำว่า ศึกษา คือการปฏิบัติ เรียน ก็เรียนแบบฟังเขาพูด หรืออ่านเอง เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง แต่เรียนรู้จริง ๆ คือการปฏิบัติ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของการปฏิบัติ อาจจะไม่ได้ตรงกับคำว่าปฏิบัติที่หลายคนพูดถึง เช่น คนจะพูดถึงว่า พระเป็นพระสายปฏิบัติ ตนก็สงสัยว่า ทำไมต้องมี 2 สาย

"ศาสนาพุทธที่ผมรู้จัก มีอยู่สายเดียว สายนี้ก็คือชัดเจน ว่าเรียนก็คือการปฏิบัติ ไม่ต้องมีสองสาย ก็มีอยู่แค่สายเดียว  สงสัยเหมือนกัน เรามองว่าเรียนมันสามารถเรียนได้ แต่ว่าการปฏิบัติ จะต้องมีความจำเป็นที่จะต้องแยกตัวไปอยู่คนเดียว นอนคนเดียว ทำอะไรต่าง ๆ คนเดียว ให้มีความวิเวกเกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่มีภาระในหน้าที่การงานอย่างผม ขณะเดียวกันหลังจากเกษียณงานใหม่ที่ถูกทาบทามให้ทำ ต้องไม่ขัดขวางกับการเรียนทำธรรมะของผม ไม่งั้นก็ไม่รู้จะเกษียณไปทำไม เช่น เป็นงานซึ่งใช้เวลามาก เป็นงานซึ่งไม่สามารถหายไปได้ ต้องตามตัว ผมไม่ชอบ ผมไม่ต้องการมีความกังวลแบบนี้ งานประเภทนี้จะไม่รับ นี่คือ criteria แรก ต้องไม่ขวางกับแผนงานของผม ดังนั้นงานที่ผมสนใจต้องผ่าน เกณฑ์ 3 อย่าง อันแรกไม่ขวางแผนงาน(ด้านธรรมมะ) อันที่สอง เป็นเรื่องสนใจอยากรู้ Enjoy กับมัน อันที่ 3 คนต้องเอ็นจอยด้วย" นายรุ่งโจน์ กล่าวทิ้งท้าย