โลกแห่งพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั่วโลกให้ความสนใจ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ขณะที่ธุรกิจก็หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เป็นภาพสะท้อนถึงแนวโน้มในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนไปในโลกพลังงาน โดยเฉพาะ “พลังงานสะอาด” เป็นโจทย์ท้าทายของทุกประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ “อินเดีย”
อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลก รองจากเยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 2566 GDP จะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6.1 และในปี พ.ศ.2567 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.8 ส่งผลให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจอินเดีย มีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปีงบประมาณ 2569 และเพิ่มเป็น 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2573 ขณะที่รายได้ต่อคนของอินเดียจะอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ.2590-2591 โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ World Population Review การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตในประเทศ มุ่งเน้นพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านสินเชื่อส่วนบุคคล ความก้าวหน้าในนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายในประเทศ การลงทุนจากนานาชาติ ผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกบริการต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจอินเดียก้าวขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจโลก ขณะเดียวกันทั่วโลกต่างจับตาแผนดำเนินงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและสหรัฐฯ
“นายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดี” แห่งอินเดีย ให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตของอินเดียสู่แนวทางกลมกลืนกับธรรมชาติ และมีความพยายามอย่างสูงในการเพิ่มพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน ประสิทธิภาพด้านพลังงาน รวมถึงการปลูกป่า และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เฉพาะการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดแผนอย่างชัดเจน คาดว่ากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของอินเดียจะเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนปัจุบันร้อยละ 41 (170 GW) ของกำลังการผลิตทั้งหมด (415 GW) เป็นร้อยละ 85 (1,125 GW) ของกำลังการผลิตทั้งหมด (1,325 GW) ภายในปี พ.ศ.2590
อินเดียได้พัฒนาระบบนิเวศที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับการซื้อ ขนส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าโดยทั่วไปในประเทศ มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดยมีบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า (Discoms) 4 ประเภท ประกอบด้วย
ขณะที่ภาคการจัดจำหน่ายและการค้าปลีก เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญที่สุดในห่วงโซ่คุณค่า โดยภาคส่วนนี้ทำหน้าที่ประสานกับผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางและสร้างรายได้ ส่วนการจำหน่ายไฟฟ้าของอินเดียให้บริการแก่ผู้บริโภค 250 ล้านคนโดยประมาณและมีระบบจ่ายไฟฟ้าประมาณ 73 แห่ง แม้จะอินเดียจะเคยเป็นประเทศที่ขาดแคลนไฟฟ้า แต่ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้น
ข้อมูลของการไฟฟ้ากลางของอินเดียแสดงให้เห็นว่าพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมถึง พลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นร้อยละ 25.3 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของอินเดียในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.6 เมื่อ 3 ปีก่อน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนยังคงจ่ายไฟได้ร้อยละ 73 ของไฟฟ้าที่ใช้ ลดลงจากประมาณร้อยละ 75 ในปี พ.ศ.2562 และสิ่งที่เร็วกว่าคาดการณ์สะท้อนผ่านอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินเดียลดลง 1 ใน 3 ในรอบ 14 ปี โดยลดลงร้อยละ 33 ใน 14 ปี เป็นการลดลงตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตพลังงานหมุนเวียนและพื้นที่ป่า
เร็วกว่าคาด “อินเดีย” ลดก๊าซเรือนกระจกลง 1 ใน 3 รอบ 14 ปี สู่เป้าสหประชาชาติ
ล่าสุดอินเดียมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาดสูงถึง 500 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 280 GW พร้อมตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 50% เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2613 (ค.ศ.2070) เส้นทางที่ยาวไกลกับสิ่งที่อินเดียกำลังทำ
เป้าหมายนี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่าที่ผ่านมาอินเดียได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะการลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและหันมาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น
GPSC ชิงส่วนแบ่งตลาดไฟสีเขียว 500 GW ผงาดขึ้นแท่น Top 3 อาเซียน
ความพยายามของอินเดียในการก้าวขึ้นสู่การสร้างพลังงานสะอาด ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะ “GPSC” หรือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นการขยับไปอีกขั้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เร่งตัว เพื่อเป้าหมายการเป็น บริษัทนวัตกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยตลาดอินเดียก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุน GPSC ก้าวสู่ผู้นำตลาดพลังงานหมุนเวียนของไทยอีกด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำตอบว่า ทำไม GPSC จึงตัดสินใจเลือกอินเดียเป็นบ้านหลังที่สอง
“ด้วยตลาดพลังงานสะอาด และนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอินเดีย เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2613 และการโครงสร้างประชากร ปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อหัวประมาณ 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อเทียบกับปริมาณเฉลี่ยของประชากรโลกที่ 3.4 เมกะวัตต์ชั่วโมง ตลาดอินเดียมีส่วนสำคัญช่วยหนุนการเติบโตของ GPSC การลงทุนครั้งนี้ใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน เพราะเล็งเห็นโอกาสต่างๆ รวมทั้งพันธมิตรสำคัญซึ่งก็คือวาด้ากรุ๊ป และถึงแม้เราจะมีแพสชั่นเป็นอันดับ 3 แต่ทุกคนมีเป้าหมายเพิ่มจิกะวัตต์เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจะหยุดไม่ได้” นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. กล่าว
การลงทุนในอินเดีย GRSC ถือหุ้น 100% ร่วมเป็นพันธมิตรกับ บริษัท อวาด้า เวนเจอร์ ไพรเวท จำกัด (Avaada Venture Private Limited) หรือ AVPL เพื่อลงทุนใน บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ AEPL บริษัทในกลุ่มอวาด้า (Avaada Group) ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย โดย GRSC เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% คิดเป็นเงินลงทุนมูลค่า 779 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2564
AEPL เป็นบริษัทในอวาด้ากรุ๊ป (Avaada Group) ที่มีส่วนแบ่งตลาดพลังงานในอินเดียราว 10-15% หรือคิดเป็นกำลังผลิตที่ 7 กิกะวัตต์ ตีคู่กับบริษัทของภาครัฐ และยังได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจใน AEPL เพื่อให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) ซึ่งปัจจุบัน AEPL มีการเติบโตโดยชนะประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้ได้ตามเป้าหมายมากกว่า 50% ในปี พ.ศ.2573
“ในอนาคตหากยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอินเดียที่ 10-15% นี้ได้ และเป้าหมายของรัฐบาลอินเดียที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดที่ 50 จิกะวัตต์ต่อปี จนบรรลุเป้าหมาย 500 จิกะวัตต์ได้ในปี 2573 GPSC จะมีพลังงานสะอาดอย่างน้อย 5 จิกะวัตต์ต่อปี” นางรสยา กล่าว
การขยับขึ้นมาอีกขั้นของ GPSG อาจไม่ได้ง่ายต้องฝ่าความท้าทาย เนื่องจากผ่านไป 6 เดือนหลังจากเข้ามาลงทุนในอินเดีย ก็มีการขึ้นภาษีนำเข้า 40% จากเดิมที่ไม่มี จึงต้องการหาเงินทุนและเตรียมสต๊อกสินค้า อีกทั้งอินเดียประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 5% กลายเป็น 12% เรียกว่าเป็น Perfect Storm ก็ว่าได้ ดังนั้นคงต้องจับตาว่าอินเดียจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีกหรือไม่
การเดินหน้าทางธุรกิจยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง GPSC เฝ้ามองการลงทุนพลังงานสะอาดในหลายประเทศที่มีการเติบโตสูง เช่น อินเดีย จีน ออสเตรเลีย สหรัฐ ยุโรป ปัจจุบันมีการลงทุนที่ ประเทศไทย สปป.ลาว สำหรับ "เวียดนาม" หลังจากศึกษาความเป็นไปได้กว่า 4 ปี จำเป็นต้องพับแผนลง เนื่องจากพบว่า โครงการบางอย่างทำไม่ได้ เช่น ปัญหาที่ดิน
กลยุทธ์ (4s) ขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานยั่งยืน
ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 3,629 เมกะวัตต์ คิดเป็น 45% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ 4 กลยุทธ์ (4s)
นอกจากนี้ยังวางแผนเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตมากกว่าครึ่งหนึ่งจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2603 / ค.ศ.2060
ความร่วมมือทางธุรกิจ กลุ่มอวาด้า VS GPSC
ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกลุ่มอวาด้า และ GPSC ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด ที่สอดรับกับนโยบายของทั้งสองประเทศ ในการมุ่งสู่การพัฒนาพัฒนาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศและเกิดความยั่งยืน ซึ่ง บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ AEPL ได้รับการสนับสนุนจาก GPSC ร่วมลงทุนด้วยมูลค่า 779 ล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ปี 2564 ในขณะที่เป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มอวาด้ายังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลอินเดีย ที่มีเป้าหมายการผลิตพลังงานโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ 500 กิกะวัตต์ (GW)
“ถือเป็นความท้าทายในการเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก ซึ่งเรามุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความพยายามในการบุกเบิกภาคธุรกิจที่รัฐบาลอินเดียประกาศให้เป็นภาคธุรกิจที่ควรผลักดัน ซึ่งจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายร่วมกัน” Mr. Vineet Mittal ประธานกลุ่มอวาด้า กล่าว
Mr. Kishor Nair ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AEPL กล่าวว่า ในปี 2566 กลุ่มอวาด้าชนะการประมูลโครงการเสนอราคาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต PLI เพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ โซลาร์เซลล์ และโมดูล พร้อมกันนี้ AEPL ยังมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นมากกว่า 7 กิกะวัตต์ (GW) รวมทั้งบริษัท Brookfield ได้เข้าร่วมลงทุนมูลค่ามากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในกลุ่มอวาด้า เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไฮโดรเจน/แอมโมเนียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเนื่องจากได้รับาการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ต่างๆ ไม่ว่มจะเป็น GPSC , Brookfield
Bikaner solar power project
ที่เมืองพิฆเนร์ รัฐราชสถาน หากทอดสายตาไปจนสุดขอบฟ้าทั้งหมดที่เห็น คือ พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด นี่คือ หนึ่งในความสำเร็จที่สุดกลุ่มอวาด้า หลังจากได้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบนำร่องที่ใหญ่ที่สุดในโลกขนาด 1.25 กิกะวัตต์ (GW) (กำลังการผลิต 1,247 MW) โดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและเม็ดเงินลงทุนมหาศาลกว่า 4,000 ล้านรูปีอินเดีย (หรือประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ) และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ภายในอนุทวีปและภูมิภาค โดยคาดดว่าจะเพิ่มอีก 2 กิกะวัตต์ (GW) รวมทั้งหมด 3.25 กิกะวัตต์ (GW)
โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ 5,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 12,650 ไร่ มีอาณาเขตยาวประมาณ 99 กิโลเมตร ใช้โซลาร์โมดูล 3 ล้านชิ้น สายเคเบิลยาว 2,338 กิโลเมตร เหล็ก 30 ตัน โรบอททำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ 2,000 ตัว ที่สำคัญคือ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 2 MTPA (2 ล้านตันต่อปี) ตัวย่อ MTPA หมายถึง Million Tonne per Annum เป็นการวัดปริมาณถ่านหินที่ขุดได้ ในหน่วยล้านตันต่อปี
เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในอินเดีย ยกระดับระบบสาธารณสุข-PM 2.5 ?
ข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหา PM 2.5 ที่เห็นในอินเดียไม่ได้เกิดจากพลังงานเพียงอย่างเดียวแต่มาจาก 2 ปัจจัย คือ การก่อสร้าง เนื่องจากประเทศอยู่ในช่วงการพัฒนา จึงมีการก่อสร้างค่อนข้างเยอะ เช่น อาคาร การขนส่ง ทำให้มี PM 2.5 เข้ามาในระบบ ขณะที่ก่อนหน้านี้ที่เมืองเดลี ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีโรงงานถ่านหินตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ปัจจุบันได้ปิดตัวลง
และเมื่อวันที่การก่อสร้างเริ่มเข้าสู่โหมดคงที่มากขึ้น รวมทั้งการขนส่งที่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้า มีมากขึ้น ก็จะทำให้จำนวนรถยนต์ลดลงด้วย แต่หากมองที่ธุรกิจของอวาด้าอาจยังไม่เห็นผลลัพธ์โดยตรงเนื่องจากธุรกิจมีการก่อสร้างในพื้นที่ฝั่งทะเลทราย แต่มองไกลไปอีกประมาณ 10 ปี หลังจากนี้ เมื่อโครงสร้างของพลังงานมีเสถียรภาพมากขึ้น การก่อสร้างต่างๆ คงที่ ไม่มีการก่อสร้างมากเท่ากับปัจจุบัน คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น