ฝนตกหนักหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ผลิตธัญพืชสำคัญของจีน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คร่าชีวิตผู้คนไป 14 ราย และสร้างความกังวลเกี่ยวกับ ความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร
ฝนตกหนักที่เกิดจากผลพวงของ พายุไต้ฝุ่นทกซูรี พัดถล่มภาคเหนือของจีนตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ทำให้ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนต้องพลัดถิ่น และคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 30 คนในเขตชานเมืองของกรุงปักกิ่งและมณฑลเหอเป่ยโดยรอบ ขณะที่พายุเคลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนือ มีรายงานผู้เสียชีวิตอีก 14 รายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในเมืองชูหลาน มณฑลจี๋หลิน ทางการได้อพยพผู้คนมากกว่า 18,000 คน ออกจากชูหลานแล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว
ไกลออกไปทางเหนือในมณฑลเฮยหลงเจียง พื้นที่การเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ได้เอ่อล้น นาข้าวจมอยู่ใต้น้ำ ทำลายโรงเรือนผักและโรงงานเสียหาย สื่อของรัฐรายงาน ทั่วทั้งมณฑลมีแม่น้ำ 25 สาย เกินระดับเตือนภัยและอาจทำให้ตลิ่งพัง ตามการระบุของ ทางการเฮยหลงเจียง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนได้ยกระดับการรับมือภาวะฉุกเฉินสำหรับน้ำท่วมเป็นระดับ 3 สำหรับมณฑลจี๋หลินและเฮยหลงเจียง ซึ่งเป็นระดับที่เร่งด่วนที่สุดเป็นอันดับสามในระบบรับมือเหตุฉุกเฉินสี่ระดับ
ในเมืองฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเฮยหลงเจียง ผู้คนมากกว่า 162,000 คนถูกอพยพ ขณะที่พืชผลกว่า 90,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 562,500 ไร่ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ขณะที่ในเมืองซางจือ พืชผลกว่า 42,575 เฮกตาร์ หรือประมาณ 266,093.75 ไร่ ถูกทำลายจากพายุฝนที่เลวร้ายที่สุดที่เมืองเผชิญมากว่า 6 ทศวรรษ
ตามรายงานยังบอกอีกว่า หมู่บ้านจำนวนมากและพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ถูกน้ำท่วมในเมืองผลิตข้าวรายใหญ่อีกแห่งในมณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก เพราะเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยคุกคามต่อเสบียงอาหารและการเกษตรของจีน
สามมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือสุด ได้แก่ เฮยหลงเจียง จี๋หลิน และเหลียวหนิง ผลิตธัญพืชได้มากกว่า 1 ใน 5 ของประเทศ เนื่องจากดินดำที่อุดมสมบูรณ์ของภูมิภาคนี้ พืชผลหลักที่ผลิตที่นั่น ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงเกษตรและกิจการชนบท เตือนว่าพายุฝนที่ตกหนักจากพายุไต้ฝุ่นขนุนและไต้ฝุ่นทกซูรี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตรของจีน
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนาข้าวทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เกิดขึ้นหลังจากฝนตกหนักเมื่อปลายเดือน พ.ค. ท่วมมณฑลเหอหนาน ภูมิภาคที่ปลูกธัญพืชรายใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผลิตข้าวสาลีราว 1 ใน 3 ของประเทศ ทางการมณฑลเหอหนานกล่าวว่าน้ำท่วมที่นั่นเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับการผลิตข้าวสาลีมากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ตามรายงานของสื่อของรัฐ
ขณะเดียวกันฝนที่ตกหนักก่อนการเก็บเกี่ยวส่งผล ให้ผลผลิตข้าวสาลีในช่วงฤดูร้อนของจีน ลดลง 0.9%ในปีนี้ ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ส่วนคลื่นความร้อนที่ตามมาซึ่งแผดเผาพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของจีนและทำลายสถิติอุณหภูมิในเดือนมิถุนายน นำมาซึ่งความแห้งแล้งที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของพืชผลอ่อน เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของจีนกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเดือนที่แล้ว
ในระยะสั้น ผลกระทบต่อภาคการเกษตรของจีนคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาอาหารซึ่งค่อนข้างคงที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจจีน ตรงกันข้ามกับการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องของประเทศอื่นในโลก
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนได้ยกเลิกภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเเละภาษีการอุดหนุนที่มีต่อข้าวบาร์เลย์ของออสเตรเลีย โดยกระทรวงพาณิชย์จีนอ้างอิงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดจีน แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลอื่นใดเพิ่มเติม
ซึ่งบังคับใช้ในปี 2564 ท่ามกลางความตึงเครียดทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ โดยในช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและออสเตรเลียตึงเครียดถึงขีดสุดในปี 2563 – 2564 จีนได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าของออสเตรเลียหลายอย่าง ตั้งแต่ไวน์และเนื้อสัตว์ไปจนถึงล็อบสเตอร์และไม้ซุง
ประเทศจีนประสบกับคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษในช่วงฤดูร้อนปี 2565 ซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงานอย่างกว้างขวาง ห่วงโซ่อุปทานอาหารและอุตสาหกรรมหยุดชะงัก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปักกิ่งได้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น ในเดือนมีนาคม สี จิ้นผิง ผู้นำจีนกล่าวว่า การเกษตรเป็นรากฐานของความมั่นคงของชาติ
ข้อมูล
China wheat output falls 0.9% after rain damage ahead of harvest