ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้เสนอมาตรการ in cash & in kind ที่เป็นมาตรการที่มีการสนับสนุนด้านการเงิน โดยให้รางวัลแก่เกษตรกรที่ไม่เผาอ้อยและโรงงานที่ไม่รับอ้อยเผา และมาตรการเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการผลิต ซึ่งผู้แทนชาวไร่อ้อยกำลังทบทวนและจะนำเข้าที่ประชุม กอน. เพื่อพิจารณามาตรการที่กระทรวงเสนอต่อไป
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่มีระบบกำกับดูแล โดยมีพระราชบัญญัติและหน่วยงานในการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และดำเนินงานมากว่า 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่นพิษ PM 2.5 เช่น การแก้ไขปัญหาอ้อยลักลอบเผา การลงโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด การจัดหาเครื่องสางใบอ้อย การส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด
รวมถึงการขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสด การสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุน การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ฤดูการผลิต 2563/2564 และ 2564/2565 โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่อ้อยในอัตราที่เหมาะสมไปแล้ว 2 ฤดูการผลิต
"กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการศึกษาผลดีผลเสียและความคุ้มค่าของการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการหาแนวทางและมาตรการเพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิตอื่นที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดตามมติ ครม. ต่อไป"
ดร.ณัฐพล กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจโลก โดยคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ จึงต้องมีระบบกำกับดูแลที่ดีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
ซึ่งการพัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรม ต้องเริ่มจากการพัฒนานักธุรกิจเกษตรให้มีรายได้ดี มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ที่สำคัญต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดหวังให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นต้นแบบของเกษตรอุตสาหกรรม ที่จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันอาหาร บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด และบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 5 มาตรการ ประกอบด้วย