กฟผ.เดินหน้า Net Zero ลุยเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 30%

07 ก.ย. 2566 | 09:18 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 09:32 น.

กฟผ.เดินหน้าขับเคลื่อน Net Zero ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ในปี 2570 พร้อมปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ลุยลงทุนกักเก็บคาร์บอน 8 ล้านตัน เผยเอกชนตอบรับลดก๊าซเรือนกระจก แห่ยื่นขอใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน 11.4 ล้าน REC

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ เพื่อนำพาเพื่อนำพาประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ภายในปี ค.ศ.2065 ภายใต้กลยุทธ์ Triple S (Sources, Sink and Support) ซึ่งประกอบไปด้วย

1.Sources Transformation  ที่ช่วยในเรื่องการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิดของพลังงาน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

2.Sink Co-Creation การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ที่กฟผ.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวทางการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 8 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2588

3.Support Measures Mecha nism การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

กฟผ.เดินหน้า Net Zero ลุยเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 30%

ขณะเดียวกันกฟผ.ยังมีบทบาทในการสนับสนุนสู่เป้าหมายสู่ Net Zero ของประเทศจากการเป็นผู้ให้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates: RECs) เพียงรายเดียวของประเทศ เพื่อเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นำไปชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับองค์กรหรือภาคธุรกิจได้อีกด้วย

วฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงาน ROAD TO  NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ ซึ่งจัดโดยฐานดิจิทัลรวมถึงบริษัทในเครือ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ว่า กฟผ.กำลังดำเนินการเพิ่มสัดส่วนพลังานหมุนเวียนให้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน กฟผ. ได้เริ่มดำเนินการสนับสนุนแนวทางเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยร่วมมือและพยายามสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเปลี่ยนผ่านไปสู่กพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP)

ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปในแนวทางดังกล่าวจะมีทั้งผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือผลิตเพื่อส่งออกมาขาย และภาคเอกชนที่ผลิตเพื่อขายไฟฟ้า โดยจะแตกต่างจากโรงไฟฟ้าแบบเดิม หรือแหล่งผลิตแบบเดิมที่ควบคุมได้

ดังนั้น กฟผ.จึงต้องทำระบบไฟฟ้าให้รองรับ ซึ่งอยู่ในมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เรียกว่า  Grid Modernization สำหรับรองรับพลังงานหมุนเวียนที่ผันผวน ทั้งจากลม แสงแดด พลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานชีวภาพ (Biogas)  โดยร่วมมือกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นแผนในระยะสั้น

ส่วนแผนในระยะกลาง คือการใช้ไฮโดรเจนที่มีสี ซึ่งอาจจะเป็นสีเขียวที่มาจากพลังงานหมุนเวียน หรือสีฟ้า ซึ่งเป็นการนำก๊าซธรรมชาติมาทำการแยก และนำส่วนที่ก่อนให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (GHC) อัดลงดิน โดยจะมาควบคู่กับการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture)

 “สิ่งดังกล่าวเหล่านี้คือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น โดยในอนาคตประเทศไทยมีแผนที่จะผสมไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย”

ขณะที่ระยะยาว กฟผ. เริ่มมีการศึกษาเรื่องของดวงอาทิตย์เทียม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอน  โดยทำร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยพยายามสร้างโครงข่ายยานยต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ในรูปแบบของการสร้างชาร์ตอีวีให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเดินทางไปได้ด้วยความสะดวกสบาย และเกิดความเชื่อมั่นในการใช้งานรถอีวี

“ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ดำเนินการมาทั้งหมด ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ได้ โดยสุดท้ายต้องนำคาร์บอนดูดทรัพย์ลงไปด้วยวิธีการกักเก็บ ซึ่งไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะสำเร็จ  ซึ่งสิ่งที่ทำได้ก่อนก็คือการใช้ป่าดูดทรัพย์ ซึ่งกฟผ.ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพันธมิตรอีกหลายหน่วยงาน และภาคเอกชน แม้จะดูดซับไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ยังถือว่าได้เริ่มต้น ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านจากฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน”

นายวฤต กล่าวอีกว่า ส่วนการให้ใบรับรอง RECs นั้น ด้วยกติกาการค้าโลก ที่นำมาเป็นเงื่อนไขปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะนำโครงการมายื่นขอใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) เพื่อนำไปขายให้กับผู้ที่สนใจนำไปชดเชยการปล่อยคาร์บอนฯของหน่วยงานหรือองค์กรตัวเอง

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมามีปริมาณการรับรอง REC ในประเทศไทย โดย กฟผ.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีการขึ้นทะเบียนรับรองตามมาตรฐาน I-RECs ของไทย 7 ล้าน MWh (RECs ) หรือคิดเป็นปริมาณ 7 พันล้านหน่วย และปี 2566 เดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นอีก 4.4 ล้าน MWh (RECs)

“การซื้อขาย REC จะถูกนำไปใช้สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรภาคธุรกิจ ที่ไม่สามารถลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้เอง แต่มีความประสงค์ที่จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็จะไปซื้อ RECs จากโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรอง เพื่อนำมาชดเชยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ของตัวเอง ซึ่งในระยะอันใกล้นี้ปริมาณของ RECs จะเพิ่มขึ้นอีกจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างรอลงนามซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้รวม RECs เข้าไปอยู่ในอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวด้วยแล้ว”