บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 ตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และในระยะสั้น ปี ค.ศ.2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 46% จากปีฐาน 2019 โดยกำหนดให้ทุกกลุ่มธุรกิจต้องมีโรดแมปและมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพยายามผลักดันการพัฒนาอาคารใหม่ทั้งหมดให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสภาวะการเป็นอยู่ที่ดีของผู้เช่ารวมถึงชุมชน มีเป้าหมายสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทไม่น้อยกว่า 80 % จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวภายในปี 2567
นายอุรเสฎฐ นาวานุเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวว่า โครงการ One Bangkok มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อให้กลุ่มบริษัทบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ค.ศ.2021 ที่พัฒนาโครงการ โดยใช้ 3 แกนหลักประกอบด้วย
People Centric ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่อาศัย คนที่เข้ามาทำงาน หรือ ลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับทุกคน, Smart City Living มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาโครงการ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ จนถึงการบริหารโครงการ การดูแลระบบภายในโครงการ และ Sustainability ให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด The Heart of Bangkok เมืองที่ยึด “หัวใจ” ของผู้คนเป็นศูนย์กลาง
รักษ์โลกตามมาตรฐานสากล
One Bangkok เลือกใช้มาตรฐานสากลเป็นเกณฑ์ เพื่อสื่อสารสร้างความเชื่อมั่นลูกค้าโครงการ อาทิ LEED Certification หลักเกณฑ์ในการประเมินอาคารสีเขียวของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ LEED for Neighborhood Development หรือ LEED สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย บนเนื้อที่ 108 ไร่ ที่ตั้งเป้า LEED ระดับ แพลทตินั่ม สำหรับทุก ๆ อาคารในโครงการ เช่น มาตรฐานของขนาดถนนในโครงการ ทางเดินเท้าที่ต้องกว้างอย่างน้อย 3 เมตร มีต้นไม้รายล้อม ขนาดกว้างจากทางเท้าถึงหน้าโครงการ 35-45 เมตร สามารถเดินเข้าถึงทุกพื้นที่ในโครงการได้เพียง 15 นาที ตามแนวคิด 15-Minute Walking City เทรนด์ใหม่ของการพัฒนาเมือง เพื่อลดการใช้พาหนะ ลดการปล่อยมลพิษรู้และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน
แต่ละอาคารออกแบบให้อนุรักษ์พลังงาน ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้ปูนซีเมนต์โลว์คาร์บอนของเอสซีจี ที่เริ่มใช้แล้วกว่า 40% ของปูนที่ใช้ภายในโครงการ นอกจากนี้ วัสดุเหลือใช้ อย่างเศษจากเสาเข็ม หรือเศษจากจากการก่อสร้างผนัง ได้ร่วมมือกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ศึกษาและนำเศษวัสดุมาย่อยให้เล็กลง เพื่อนำไปต่อยอดผสมในคอนกรีตพรีคาสท์พาแนล หรือผนังดูดซับเสียง เพื่อใช้งานต่อไป
ส่วนของเศษวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ ได้พูดคุยกับผู้รับเหมาตั้งแต่เริ่มต้น ให้มีการบริหารจัดการ รีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ซํ้าหากทำได้ ทำให้สามารถลดปริมาณขยะในไซด์งานได้กว่า 75%
รวมศูนย์ระบบสาธารณูปโภคลดพลังงาน
ส่วนเรื่องมาตรฐาน Well ที่เป็นการกำหนดมาตรฐานความสะดวกสบาย สุขลักษณะที่ดีของคนในตึก ทั้งคุณภาพอากาศ คุณภาพนํ้า มาตรฐาน Well อาคารสำนักงานตั้งเป้าระดับแพลทตินั่ม ส่วนที่พักอาศัย ตั้งเป้าระดับโกลด์
One Bangkok จัดทำอาคารรวมศูนย์ระบบสาธารณูปโภค (Central Utility Plant) ภายในอาคารมีระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง เช่น ระบบทำความเย็น ระบบควบคุมความเย็น ระบบรักษาความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ ระบบการจัดการนํ้าและพลังงาน มีระบบ Smart Grid กระจายไฟฟ้าไปทั่วโครงการ ระบบบำบัดนํ้าเสียจากทุกจุดของโครงการ ทำให้สามารถรีไซเคิลนํ้าและนำกลับไปใช้ได้ 75% เพื่อใช้ในสวนและระบบสุขภัณฑ์ ทำให้สามารถลดการใช้นํ้าประปาได้กว่า 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบกับสระว่ายนํ้าโอลิมปิก 1,000 สระ และสามารถประหยัดการใช้พลังงานได้ประมาณ 15%
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ข้อมูล (District Command Centre) ที่ใช้เซ็นเซอร์มากกว่า 2.5 แสนตัว เก็บข้อมูลการบริหารอาคาร ระบบต่าง ๆ ข้อมูลของการใช้พื้นที่ ข้อมูลเหล่านี้จะเก็บมาประมวลผล เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ของบริษัท มีเจ้าหน้าที่ประจำการ 24 ชั่วโมง มีจอมอนิเตอร์และ Smart CCTV ทั่วโครงการ 5,000 จุด
พื้นที่เปิดโล่ง-พื้นที่สีเขียว 50%
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 ไร่ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ รวมทั้งมีสวนสาธารณะแนวยาว
ในแง่ของต้นทุนสำหรับการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นายอุรเสฎฐ ยอมรับว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับตึกอาคารสำนักงาน เพิ่มขึ้นมาประมาณ 5% ส่วนอาคารที่อยู่อาศัยก็เพิ่มยึ้นเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้
ส่วนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขณะนี้ยังไม่มีแผนติดตั้งในโครงการ เนื่องจากมีการประเมินแล้วว่าการทำโอเพ่นสเปซ หรือพื้นที่เปิด มีความคุ้มค่ามากกว่าในด้านสิ่งแวดล้อม โดยในโครงการมีการติดตั้งอีวีชาร์จเจอร์ รองรับการใช้งานเรียบร้อยแล้ว