PM2.5 หายนะเศรษฐกิจไทย โจทย์ที่รัฐต้องแก้

17 ธ.ค. 2566 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2566 | 11:56 น.

ฝุ่น PM2.5 ความเสียหายต่อสุขภาพ หายนะเศรษฐกิจไทย คาดสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของ GDP เป็นโจทย์ที่รัฐต้องแก้ ผู้เชี่ยวชาญแนะ 3 มาตรการป้องกัน เน้นบังคับใช้กฎหมาย

ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่วนเวียนและเกิดขึ้นทุกปี และยังไม่มีทีท่าว่าภาครัฐจะมีนโยบายจัดการเรื่องนี้อย่างไร จึงกลายเป็นประเด็นที่สังคมวิพากวิจารณ์เกี่ยวกับอากาศสะอาดเป็นสิทธิที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ ในทางการแพทย์ปัญหามลพิษทำร้ายสุขภาพร่างกายของเราโดยตรง แต่ถ้าเป็นมุมมองของเศรษฐศาสตร์ปัญหามลพิษทำร้ายเศรษฐกิจอย่างไร ? 

ในรายงานของ World Bank จากรายงานติดตามเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monior) ฉบับธันวาคม 2566 คงพออธิบายให้เห็นภาพชัดว่า ความเสียหายต่อสุขภาพจาก PM2.5 ทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของ GDP การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) มากขึ้น เพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แต่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม หรือตั้งราคาคาร์บอนที่สูงมากขึ้น เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าหรือการฝึกอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สามารถเร่งการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ได้ จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยลดลงได้

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ไม่ว่าจะผ่าน ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems: ETS) มีความสำคัญที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2608 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573

ในรายงานชี้ให้เห็นว่า ไทยดำเนินนโยบายหลายอย่างในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ในขั้นแรกเพื่อให้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม การซื้อ ขายการปล่อยก๊าซภาคสมัครใจ เริ่มดำเนินตั้งแต่ปี 2558 แม้จะช่วยจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต แต่ต้องความทะเยอทะยานเชิงนโยบายเพิ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

ถ้าพิจารณาจากเป้าหมาย Net Zero ของไทย เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อน เรายังช้ากว่าเป้าหมายที่ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่กำหนดไว้ เช่น กัมพูชา ตั้งเป้า 2593 เวียดนาม ตั้งเป้า 2593 สปป.ลาว ตั้้งเป้า 2593 มาเลเซีย ตั้งเป้า 2593 สิงคโปร์ ตั้งเป้า 2593 และอินโดนีเซีย ตั้งเป้า 2603

ผู้เชี่ยวชาญแนะ 3 ข้อหลัก แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 

คุณชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการบริษัททีมกรุ๊ปและนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ เขียวรักษ์โลก โดยฐานเศรษฐกิจ ได้ ให้ข้อแนะนำการแก้ปัญหา PM2.5 ไว้อย่างน่าสนใจ 3 ประการ เรื่องแรกคือ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพราะ PM2.5 เป็นสิ่งที่ทุกคนร่วมสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะการใช้รถที่ปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่สร้าง PM2.5 มากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง รณรงค์ให้ใช้รถน้อยลง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนไปใช้ยานต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งส่วนช่วยอย่างมากในการไม่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

ต่อมา การประหยัดน้ำประหยัดไฟ คุณชวลิตอธิบายว่า เพราะมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งก็คือ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 70% ของเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ ซึ่งก็เป็น 70% ที่ผลิตไฟฟ้าและน้ำปะปา โดยเฉพาะน้ำปะปา มีค่าใช้จ่ายส่วนหลักก็คือ "ค่าไฟฟ้า" ถ้าสามารถประหยัดน้ำก็จะประหยัดการใช้ไฟฟ้าไปด้วย นั่นหมายถึงการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

"คงพอเคยนึกออกว่าเรามีก๊าซในอ่าวไทย นำขึ้นผลิตกระแสไฟมากมายที่บางปะกง ต่อท่อไปที่วังน้อย และเกือบจะถึงจังหวัดนครสวรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง PM2.5 ขึ้นมา เราไปสัมปทานซื้อก๊าซจากแหล่งยาดานา แหล่งเยตากุนของเมียนมา กว่า 10 ปี แล้วเอามาใช้ที่ราชบุรี แต่อาจลืมแล้ว เเต่จะมองไม่เห็นไม่ได้"  

ถัดมาคือ การเผา ถือเป็นการสร้าง PM2.5 มากที่สุด โดยเฉพาะ เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ไปจนถึงมกราคมปีหน้าเป็น "ฤดูหีบอ้อย" จึงขอความร่วมมือเกษตรกรไม่เผาอ้อย 

"อย่าเผา การเผาที่จะให้ได้คิวก่อน หลายคนคงคิดถ้าอ้อยโดนไฟโรงน้ำตาลจะรับซื้อก่อน เพราะอ้อยเสียหาย ราคาลดลง อ้อยที่ถูกไฟเผา แต่ได้เงินก่อนเป็นการแซงคิวเกษตรกรรายอื่น ไม่ควรทำ นอกจากไปเอาเปรียบเพื่อนเกษตรด้วยกันโดยยอมได้ราคาที่ต่ำ เป็นสิ่งที่ไม่ดีในภาพของเกษตร เเละยังสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศโดยรวมด้วย 

รัฐบาลต้องเป็นแกนกลางในการรณรงค์ สื่อสารชัด 

คุณชวลิต ให้ความเห็นว่า รัฐต้องเป็นตัวกลางหลัก ในการขอความร่วมมือ ลดการใช้รถ ใช้น้ำ ส่วนการเผา จำเป็นต้องเด็ดขาด คือ ใช้มาตรการตรวจจับ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ถ้าหากว่าอ้อยถูกไฟไหม้ ต้องดำเนินการสอบสวน แต่ถ้าไม่ใช่ก็มีความผิด ในการสร้างมลพิษ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีกฎหมายอยู่เเล้ว ที่สำคัญรัฐบาลต้องใช้การสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ ชัดเจน ตรงประเด็น เข้าถึงประชาชน 

"ฟังดูอาจรุนแรงแต่ไม่ทำไม่ได้ กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่อยู่แล้ว มีนโยบาย  มีกฎหมายต้องเอาจริงเอาจัง อัดฉีดงบประมาณให้ถูกจุด เพราะปีนี้ถูกมาซ้ำเติมด้วยเอลนีโญ ที่ปกติลมจากทะเลยจีนใต้ฝั่งตะวันออกจะพัดมาตะวันตก ซึ่งช่วยพัดฝุ่นออกไป ทำให้คลี่คลายสถานการได้เป็นช่วงๆ แต่ลมจะเบาลงกว่าปกติเพราะเอลนีโญ การที่ยังสร้างมลพิษจากท่อไอเสีย โรงงานอุตสาหกรรม โรงผลิตไฟฟ้า ในเมืองต่างๆ เมื่อลมเบา การจะพัดให้ PM2.5 กระจายก็ยาก มลพิษยังอยู่ในอากาศ ตอนนี้ธรรมชาติไม่ช่วยแล้ว ถ้ายิ่งมีการเผา ก็ยิ่งไปซ้ำเติม PM2.5 ให้หนักขึ้น" กรรมการบริษัททีมกรุ๊ปและนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ทิ้งท้าย

ที่มาข้อมูล