"อีวี มี"รุกเพิ่ม"EV"ระบบขนส่งสาธารณะไทย หนุนสังคมคาร์บอนต่ำ

25 ธ.ค. 2566 | 09:51 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2566 | 09:51 น.

"อีวี มี"รุกเพิ่ม"EV"ระบบขนส่งสาธารณะไทย หนุนสังคมคาร์บอนต่ำ เดินหน้าทดแทนรถยนต์รุ่นเก่าที่กำลังจะปลดระวาง หลังมีการปล่อยก๊าซฯ มากกว่าปีละ 500,000 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่า 

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme Plus)ได้ดำเนินการส่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น AION ES (ไอออน อีเอส) ให้แก่บริษัท สุขสวัสดิ์แท็กซี่ จำกัด สหกรณ์แท็กซี่สหมิตร และสหกรณ์อาสาสมัคร ทดแทนรถยนต์รุ่นเก่าที่กำลังจะปลดระวาง และเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารสาธารณะ มุ่งลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน 

สำหรับ AION ES ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% ประหยัดค่าพลังงาน เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ผู้ขับแท็กซี่ และบุคคลทั่วไป โดยมีอัตราค่าสิ้นเปลืองพลังงานเฉลี่ยเพียง 0.75–1บาทต่อกิโลเมตร มีระบบติดตามรถ กล้องถ่ายภาพนิ่ง เครื่องระบุตัวตนผู้ขับขี่ และปุ่มฉุกเฉิน เพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร ตามมาตรฐานของกรมขนส่งทางบก 

"ปตท. ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นวาระสำคัญของโลก จึงเร่งขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และเสริมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) โดยสนับสนุนการใช้ EV ในภาคการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวที่สอดรับกับการใช้ชีวิตของผู้คน"

อย่างไรก็ดี จากสถิติรถสันดาป 1 คัน มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ยปีละ 6 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าต่อคัน ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในระบบขนส่งกว่า 85,000 คัน ทำให้ภาคส่วนนี้มีการปล่อยก๊าซฯ มากกว่าปีละ 500,000 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่า 

"อีวี มี"รุกเพิ่ม"EV"ระบบขนส่งสาธารณะไทย หนุนสังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากนี้ ต้นทุนค่าพลังงานของผู้ใช้รถแท็กซี่ยังมีอัตราสูง ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ EV ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงาน ยังช่วยสนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศ 

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS กล่าวว่า อรุณ พลัส ยังคงเดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขยายตัว EV อย่างต่อเนื่องตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก ปตท. ในการสร้างนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ EV (EV Value Chain) เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) 
 

โดยอรุณ พลัส ได้ส่งมอบคุณค่าผ่านบริษัทในกลุ่มอรุณ พลัส ในการพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ อาทิ การจัดหาชิ้นส่วนสำคัญและการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มสำหรับการตลาดและการขาย การผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า การจัดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมไปถึงการให้บริการด้าน EV แบบครบวงจรผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ EVme ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย 

"ความร่วมมือกับผู้ประกอบการแท็กซี่ดังกล่าว ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนผ่านระบบขนส่งสาธารณะไปสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการสร้างนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขับเคลื่อนแห่งอนาคตอย่างแท้จริง"

นายจิระพงศ์ เลาห์ขจร ประธานเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด กล่าวว่า EVme ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง โดยเริ่มให้บริการแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2563 ได้ทดสอบและเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ EV อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการบริการ EV ไม่ใช่แค่เพียงรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ยังครอบคลุมรถยนต์สาธารณะ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ