จับตาโลกรวนกระทบ “คลองปานามา” ส่อป่วนการค้าโลก

28 ธ.ค. 2566 | 01:00 น.

จับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อ “คลองปานามา” ขณะนี้มีคำเตือนว่าสถานการณ์เลวร้ายลงมาก ส่อเค้ากระทบการค้าโลก

เมื่อเผชิญกับการขาดน้ำฝนก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งในเขตแหล่งน้ำสำคัญของ "คลองปานามา" จากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ "ปรากฎการณ์เอลนีโญ" ในปี 2566 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คลองที่เป็นเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในทวีปเอเชียและสหรัฐฯ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกและมีความสำคัญในแง่ของการขนส่งสินค้ากลุ่มพลังงานและวัตถุดิบการผลิตจากสหรัฐฯ ไปยังทวีปเอเชียจึงต้องจำกัดจำนวนเรือที่แล่นผ่าน

ส่งผลกระทบต่อการเดินทางข้ามผ่านคลองของเรือขนส่งสินค้า ก่อนหน้านี้ The Panama Canal Authority ตัดสินใจลดจำนวนอนุญาตเรือข้ามคลองลงทุกเดือนจาก 32 ลำต่อวันในเดือนพฤศจิกายน 2566 จนกระทั่งเหลือเพียง 18 ลำต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติที่อนุญาติเรือจำนวน 36 ลำต่อวัน 

ขณะนี้มีคำเตือนว่าสถานการณ์เลวร้ายลงมาก ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผลกระทบจากคลองปานามาที่ถูกจำกัดสามารถสัมผัสผลกระทบได้ทั่วโลก เเม้ล่าสุด คลองปานามาเพิ่มการขนส่งรายวันเป็น 24 ลำ เริ่มมกราคมนี้ มาตรการนี้มาแทนที่ประกาศก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์การขนส่งรายวันที่ 20 ลำสำหรับเดือนมกราคม และ 18 ลำสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ เเละเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน คาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มช่องรายวันได้ 6 ลำ 

เครดิตภาพ : The Panama Canal Authority

ข้อมูลจาก เดอะการ์เดียน ระบุว่า คลองปานามาเชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกได้ปฏิวัติการขนส่งทั่วโลกเมื่อเปิดในปี 1914 ไม่จำเป็นต้องเดินทางอ้อมยังตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ระยะทางสั้นลงกว่า 13,000 กม.

ในปี 2565 เรือมากกว่า 14,000 ลำ เดินทางข้ามคลองเพื่อขนส่งเชื้อเพลิง ธัญพืช แร่ธาตุ และสินค้าจากโรงงานในเอเชียตะวันออกไปยังผู้บริโภคในนิวยอร์กและที่อื่นๆ สินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า 40% ที่มีการซื้อขายระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาถูกขนส่งผ่านคลอง

คลองปานามามีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากคลองสุเอซ คือ คลองนี้ขุดผ่านทะเลสาบหลายแห่ง ที่สำคัญคือ ทะเลสาบกาตุน (Gatun Lake) และทางตอนใต้ของคลองขุดผ่านบริเวณที่สูง โดยจุดสูงที่สุดอยู่เหนือระดับทะเลปานกลาง 26 เมตร ขณะที่ระดับน้ำในทะเลแคริบเบียนด้านมหาสมุทรแอตแลนติกกับในมหาสมุทรแปซิฟิกไม่เท่ากัน ในการเดินทางเรือบางลำมีความยาวถึง 350 เมตร จึงต้องทำประตูกั้นน้ำภายในลำคลองเป็นช่วงๆ เพื่อยกระดับเรือให้สูงขึ้นหรือลดต่ำลง เมื่อเรือแล่นผ่านจากปากคลองด้านหนึ่งไปออกปากคลองอีกด้านหนึ่ง

เรือทุกลำที่แล่นผ่านคลองใช้น้ำ 200 เมตร ซึ่งส่วนใหญ่จะไหลออกสู่ทะเล แหล่งเดียวกันนี้ยังจัดหาน้ำให้กับประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 4.3 ล้านคนของปานามา ทำให้ผู้บริหารต้องสร้างสมดุลระหว่างความต้องการในการขนส่งระหว่างประเทศกับความต้องการของคนในท้องถิ่น ส่งผลให้ทะเลสาบต้องเผชิญกับการขาดน้ำ 3 พันล้านลิตรต่อวัน ขณะนี้ระดับน้ำในทะเลสาบ Gatun ใกล้ถึงจุดต่ำสุดที่เคยบันทึกไว้ในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้หน่วยงานคลองปานามาที่บริหารจัดการทางน้ำต้องจำกัดจำนวนเรือที่แล่นผ่าน

จับตาโลกรวนกระทบ “คลองปานามา” ส่อป่วนการค้าโลก

ขณะที่การโจมตีเส้นทางการค้าที่พลุกพล่านที่สุดในโลกในทะเลแดงทำให้บริษัทหลายแห่งหลีกเลี่ยงคลองสุเอซโดยสิ้นเชิง ข้อจำกัดที่คลองปานามาจะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมากขึ้น เช่นเดียวกับที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงภูมิสภาพอากาศมีแนวโน้มที่จะแย่ลงในปีหน้า ความคาดหวังก็คือเดือนมีนาคม-เมษายนปีหน้าอาจเป็นระดับต่ำสุดของทะเลสาบ Gatun เป็นประวัติการณ์ Steven Paton กล่าวในรายงานของเดอะการ์เดียนว่า ฤดูแล้งของปานามามักจะเริ่มต้นเร็วกว่าปกติในช่วงเหตุการณ์เอลนีโญที่สำคัญ ดังนั้นจะได้รับผลกระทบสองเท่า ด้วยการขาดดุลและสูญเสียปริมาณน้ำฝนเร็วขึ้น แม้ฝนจะตกในช่วงกลางฤดูฝน แต่เดือนตุลาคมปีนี้ก็เป็นปีที่แห้งแล้งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 โดยมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติถึง 41% หากแนวโน้มของการขาดดุลปริมาณน้ำฝนยังคงดำเนินต่อไป จะทำให้คลองดำเนินการได้ยากขึ้นมากขึ้นตามความจุตามปกติ

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กล่าวว่า คลองและประเทศเผชิญกับความท้าทายของฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงด้วยปริมาณน้ำสำรองขั้นต่ำที่ต้องรับประกันปริมาณน้ำประปามากกว่า 50% ของประชากร และในขณะเดียวกันก็รักษาการดำเนินงานของคลองเอาไว้ด้วย 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า แนวโน้มปัญหาน่าจะส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานโลกในอนาคต เกิดภาวะขาดแคลนเรือขนส่งสินค้า ความล่าช้าในการขนส่ง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าและกลุ่มผู้นำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ

ผู้ประกอบการไทย ควรพิจารณาเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับสถานการณ์ในอนาคต เช่น การวางแผนเพิ่มระยะเวลาจัดส่งสินค้าล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงด้านการขนส่งล่าช้า รวมถึงการแสวงหาแหล่งนำเข้าสำรองสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ พลังงาน และสารเคมีเพื่อลดผลกระทบจากการขนส่งล่าช้าและราคาสินค้าที่อาจจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ที่มาข้อมูล