ทั้งนี้ได้ทำการศึกษาข้อมูลการใช้พลังงานในกลุ่มเรือขนาดเล็ก เช่น เรือที่ใช้สัญจรในตลาดนํ้า เรือสัญจรขนาดเล็ก เรือประมงขนาดเล็ก และเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก รวมถึงด้านศักยภาพของผู้ประกอบการในการดัดแปลงเรือให้เป็นเรือไฟฟ้า ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะนำไปจัดทำแผนนโยบาย และมาตรการการส่งเสริมเรือไฟฟ้า แนวทางการดำเนินมาตรการที่มีความเหมาะสมในอนาคตอีกด้วย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ชี้ให้เห็นว่า โครงการดังกล่าว เป็นต้นแบบ “เรือไฟฟ้าขนาดเล็กแบบดัดแปลงสำหรับแม่นํ้า” ทำจากไม้กินนํ้าลึก 0.4 เมตร มีนํ้าหนักรวมบรรทุก 2.6 ตัน มีความเร็วทำการ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่ใช้งานได้อยู่ที่ 15 กิโลเมตร ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 18 กิโลวัตต์ ชนิดแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุแบตเตอรี่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีระบบ Solar cell 1.8 กิโลวัตต์ ใช้ระยะเวลาในการชาร์จ 6-8 ชั่วโมง
ก่อนดัดแปลงนั้นเรือลำนี้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อยู่ที่ 10.5 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งหลังดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าพบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงเหลือ 2.35บาทต่อกิโลเมตร ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ 8.15 บาทต่อกิโลเมตร
นอกจากนี้ พพ. ยังได้ศึกษา “เรือไฟฟ้าขนาดเล็กแบบดัดแปลงสำหรับชายฝั่ง” โดยก่อนดัดแปลงมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อยู่ที่ 12.9 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งหลังดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าพบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงเหลือ 2.5 บาทต่อกิโลเมตร
ทั้งนี้ พพ. ยังได้มีการประเมินศักยภาพการลดการใช้พลังงานหากสามารถดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าได้ครึ่งหนึ่งทั่วประเทศ (1,612 ลำ) จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ประมาณ 88.9 ล้านบาทต่อปี
นายวัฒนพงษ์ กล่าวเสริมว่า การส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าตามชายฝั่งและแม่นํ้า ล้วนมีความสำคัญ เนื่องจากมีการให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนที่ใช้สัญจรในชีวิตประจำวัน และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้การส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้ามีความคุ้มค่าทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เรือไฟฟ้ามีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำกว่าเรือที่ใช้นํ้ามัน เพราะเชื้อเพลิงมีราคาสูง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการทำงานและค่าดูแลรักษา ตลอดจนสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่สร้างมลพิษเนื่องจากไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดมลภาวะทางเสียง และกลิ่นควันจากเครื่องยนต์ ในบริเวณชุมชนที่ทำการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการเพิ่มรายได้จากการให้บริการนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น
สำหรับในอนาคตจะมีการผลักดันให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้า เพื่อการท่องเที่ยวสีเขียว (Green tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เน้นความสมดุลระหว่างสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีการจัดทำคู่มือการดัดแปลง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายหรือช่างในชุมชนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาตรการภาครัฐในการส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าขนาดเล็กที่เหมาะสมไปดำเนินการ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถนำแบบสำหรับดัดแปลงเรือไฟฟ้าที่ได้จากโครงการไปเป็นมาตรฐานในการดัดแปลงเรือขนาดเล็กได้ในอนาคต