"เอสซีจี" ลำปาง มุ่งการผลิตสีเขียว ดึง ESG4Plus ขับเคลื่อน Net Zero

04 ก.พ. 2567 | 08:52 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2567 | 09:05 น.

“เอสซีจี ลำปาง” เปิดกระบวนการผลิตสีเขียว พร้อมกลยุทธ์ ESG4Plus ขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมาย Net Zero พ.ศ. 2593 ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเฟส 3 พร้อมโซลาร์ลอยนํ้า เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 26% ผลักดันการผลิตปูนคาร์บอนต่ำจาก 100% ภายในปีนี้

กลุ่มเอสซีจี ในธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์ แอนด์ กรีนโซลูชัน ถือเป็นอีกกลุ่มที่บริหารต้นทุนพลังงานได้ดีในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนมาอยู่ที่ 40% ขณะที่ปี 2567 เดินหน้าการผลิตและส่งมอบโซลูชัน ตอบสนองความต้องการของตลาดอาเซียนที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยมุ่งนำเสนอโซลูชันการออกแบบอาคารที่ช่วยคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้าง ด้วยแพลตฟอร์ม “KITCARBON” พร้อมทั้งเดินหน้า “ปูนคาร์บอนตํ่า”

จากที่ผ่านมาได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยคุณภาพที่มีความแข็งแรง ทนทานและผิวเรียบเนียนเป็นพิเศษ มียอดขายเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2565 ล่าสุดขยายการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย

วรการ พงษ์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง)

นายวรการ พงษ์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี ลำปางก่อตั้งขึ้นด้วยหลักกรดำเนินงาน “สร้างงาน สร้างความเจริญ รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นพลเมืองดีของลำปาง” ดำเนินงานโดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Manufacturing) โดยเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงทดแทน 40% อาทิ ชีวมวล (Biomass) ขยะมูลฝอยจากชุมชน (RDF) วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด กิ่งไม้ใบไม้ จากโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 26% ด้วยการติดตั้งโซลาร์ลอยนํ้าโซลาร์รูฟท็อป นำลมร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Waste Heat Generator) ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 38% ลดการใช้ถ่านหิน 26% ด้วยการใช้ Biomass เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

พร้อมกันนี้ ยังใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกหินปูน-รถตัก-รถขุดไฟฟ้าในโรงงาน โดยปริมาณรถบรรทุก 60 ตันทั้งหมด 12 คัน ได้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,500 ตันคาร์บอนฯ ต่อปี โดยรวมเปลี่ยนการใช้ยานยนต์เป็นรถไฟฟ้าแล้วประมาณ 60% และเอสซีจี ลำปาง ยังพยายามปรับเปลี่ยนรถ และเทคโนโลยีที่มีความพร้อม เพื่อลดคาร์บอนทั้งทีที่สามารถดำเนินการได้ มีเทคโนโลยีพร้อมรองรับ

\"เอสซีจี\" ลำปาง มุ่งการผลิตสีเขียว ดึง ESG4Plus ขับเคลื่อน Net Zero

นายวรการ กล่าวอีกว่า โรงปูนลำปาง ยังได้ผลิตปูนคาร์บอนตํ่าเป็นรายแรกของไทย ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน CO2 ต่อการผลิต 1 ตัน ปัจจุบันส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย หมู่เกาะมัลดีฟส์ และปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนตํ่า รุ่นที่ 2 ซึ่งสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรกอีก 5%

นอกจากนี้ เอสซีจี ลำปาง ยังส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีบริหารจัดการนํ้าให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง ผ่านการสร้างฝายชะลอนํ้า การปลูกป่าชุมชน และต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ ผ่านโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการรักษ์ภูผามหานที เพื่อให้ชุมชนมีนํ้าใช้ตลอดปี ด้วยการสร้างฝายชะลอนํ้า ซึ่งทำไปแล้วกว่า 120,000 ฝาย และโครงการพลังชุมชน อบรมให้ความรู้ เปลี่ยนวิธีคิด สร้างอาชีพ มีรายได้เพิ่มจากการเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นให้โดดเด่นและตอบความต้องการตลาด

ปัจจุบันมีผู้ร่วมเข้าทั้ง 2 โครงการ กว่า 200,000 คน จาก 500 ชุมชน ใน 37 จังหวัด เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง สามารถลดพื้นที่การเผาได้ 6,300 ไร่ สามารถสำรองนํ้าไว้ใช้เพื่อการเกษตรมากกว่า 1.7 แสนลูกบาศก์เมตร จากการสร้างฝายชะลอนํ้า บ่อพวง แก้มลิง ฝายใต้ทราย ซึ่งเป็นนวัตกรรมของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะผลักดันให้เกษตรกรปลูกป่า เพื่อการดูดซับคาร์บอน ด้วยเป้าหมายเกือบ 3 ล้านไร่