เตือน “Climate change” วาระโลก ธุรกิจต้องปรับตัวเลี่ยงกีดกันการค้า

25 มี.ค. 2567 | 10:58 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2567 | 11:21 น.

“ปวิช เกศววงศ์” ส่องอนาคต “Climate change” วาระโลก เตือนธุรกิจต้องปรับตัวเลี่ยงถูกกีดกันการค้า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ดึงพันธมิตรแบงก์-ต่างประเทศ เข้าถึงสินเชื่อ ลด CO2

นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม บรรยายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ภาครัฐ จุดเปลี่ยนรับมือ Climate change”ในงานเปิดตัว Climate Center โดย ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567  ว่า อย่างที่ทุกคนทราบปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาหลัก อาทิ อากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิสูงขึ้น ปีที่แล้วอุณหภูมิขึ้นไปแตะถึง 40 องศาเซลเซียส สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่เกิดขึ้นมานับร้อยปีแล้ว ย้อนไปช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมทางยุโรปหรือสหรัฐอเมริกามองว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน

เตือน “Climate change” วาระโลก ธุรกิจต้องปรับตัวเลี่ยงกีดกันการค้า

ทางสหประชาชาติ ได้เล็งเห็นแล้วว่าปัญหาของโลกทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้โลกร้อน การเปลี่ยนแปลงความหลากหลายชีวภาพ ได้ส่งผลกระทบไปหมดไม่ใช่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว  เช่น วิกฤติของพะยูน และหญ้าทะเลในพื้นที่ภาคใต้ และปะการังฟอกขาว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังกระทบเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของคน สุขอนามัย ร่างกายจะปรับตัวอย่างไร เป็นสิ่งที่เราถกเถียงกันมาตั้งแต่ในอดีตจนเกิดเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

“ทำไมถึงถึงใช้เฟรมเวิร์คเพราะเราไม่สามารถจะระบุได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องจัดการอย่างไรหรือต้องมีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างไร เกิดขึ้นมาพร้อมกับอนุสัญญาด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพี่น้องกันเกิดมาตั้งแต่ปี 1972  และ 1974 ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกนับตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 30 ปี

สิ่งต่าง ๆ พัฒนาไปทางที่เลวร้ายขึ้น หรือดีขึ้นก็ให้ทุกคนร่วมกันตัดสินใจ เพราะวันนี้ทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าสถานะจะเป็นชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ หรือผู้ที่บกพร่องทางร่างกายก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ

จนถึงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28  หรือ COP28 จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นการประชุมล่าสุดมองว่าเป็นเรื่องของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มาคุยกัน

แต่หากย้อนกลับไป ในการประชุม COP 21 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส  เป็นความร่วมมือทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศยากจนหรือประเทศร่ำรวย ที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างเป็นสาเหตุที่เราจะต้องร่วมมือกันขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของแต่ละประเทศที่จะพร้อมรับปรับตัว การลดหรือปรับเปลี่ยนการดำเนินเศรษฐกิจในประเทศของตัวเองอย่างไร

 

เตือน “Climate change” วาระโลก ธุรกิจต้องปรับตัวเลี่ยงกีดกันการค้า

สำหรับประเทศไทยตั้งเป้า 2050 จะเป็นกลางทางคาร์บอน ขณะที่คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คาดการณ์สิ้นศตวรรษนี้อุณหภูมิโลกอาจจะสูงถึง 4 องศาเซลเซียสก็มีความเป็นไปได้ ในเวลานั้นอาจจะเป็นคน สัตว์หรือสิ่งมีชิวิตอื่นปรับตัวไม่ได้อาจจะเกิดการสูญพันธุ์เหมือนไดโนเสาร์ ที่เราไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร หรืออาจจะเกิดจากสภาพภูมิอากาศหรือเกิดจากภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น ก็ทำให้ทั่วโลกได้หันมาทบทวนว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะทำอย่างไร ที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ต่ำ

ประเทศไทยโชคดี มีแผนแม่บทในเรื่องแผนสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ปี 2558-2579 ประจวบกับเราจะเป็นกลางทางคาร์บอน แผนฉบับนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1.ลดก๊าซเรือนกระจก 2.การปรับตัว สิ่งเหล่านี้จะต้องมาผนวกกัน รวมทั้งเรื่องการสร้างขีดความสามารถให้กับพี่น้องประชาชน งานเปิดตัว Climate Center ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งจะมาเสริมสร้างขีดความสามารถให้พี่น้องประชาชนได้มีการตื่นตัวและได้มีการตระหนักขึ้น

ปัจจุบันก็อาจจะมีการตื่นตัวหรือมีความตระหนัก แต่ยังคงไม่เต็มที่ เหมือนหลายคนที่มองตั้งแต่กรุงปารีส จนมาถึงนครดูไบไม่ได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเลย ยังคงถกเถียงว่าจะใช้น้ำมันจากฟอสซิสหรือไม่ หรือจะยกระดับพลังงานทางเลือกขึ้นหรือไม่ จะใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีการพูดถึง รวมไปถึงเงินทองที่ประเทศพัฒนาแล้วจะสนับสนุนอย่างไรกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา หรือที่มีความยากจนได้เอาไปใช้ ก็ยังไม่ได้ตัวเลขขึ้นมา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่พูดกันแบบเลื่อนลอย

เตือน “Climate change” วาระโลก ธุรกิจต้องปรับตัวเลี่ยงกีดกันการค้า

“เราในฐานะที่เป็นประชากร เป็นประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญานี้ อยู่ในโลกใบเดียวกันของทั่วโลก เราต้องทำในสิ่งที่เราต้องทำ เราต้องมีแผนปฎิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งในส่วนภาคเกษตร ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ขยะ ของเสีย และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูง ทำอย่างไรเราถึงจะลดได้ เราก็ตั้งเป้าว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนด 2030 เราจะลดได้เท่าไร"

ทั้งนี้การขับเคลื่อนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยภาคพลังงานและภาคขนส่ง อยู่กับแผนแม่บทพลังงาน ที่อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งจะมีการประกาศออกมาใช้ โดยกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม มีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดจึงเป็นที่มาของตัวเลขภาพฉายนี้ เพราะสิ่งที่จะลดสามารถทำอะไรได้บ้าง"

 

นอกจากเราทำเองแล้วศักยภาพของเราก็บอกว่าเราจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ต่ำที่สุด ขีดความสามารถเราก็มีเท่านี้ ต่างชาติเข้ามาช่วยได้หรือไม่ อาทิ เรื่องนาเปียกสลับแห้ง เป็นต้น และเรื่องการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการเงิน และเรื่ององค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างประเทศต่อประเทศ

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงปารีส ยังไม่ได้ออกระเบียบวิธีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ จะทำอย่างไรที่จะให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ได้ทำ “Bangkok E-Bus” รถโดยสารประจำทางรถไฟฟ้า ไทย-สวิส ซึ่งจะไปลดก๊าซเรือนกระจำ 5 แสนตัน ในปี 2030 เป็นฉบับแรก ส่วนฉบับที่ 2 ในปี 2035 เราในฐานะกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขออกมาว่า ต่อจากนี้ไปมีตัวเลขอะไรที่ชาเลนจ์ขึ้นไปอีก เพราะถ้าให้หน่วยงานรัฐปฎิบัติหน่วยงานเดียวคงไม่พอ ต้องให้ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนต่าง ๆ ต้องช่วยกันขับเคลื่อนไป

เตือน “Climate change” วาระโลก ธุรกิจต้องปรับตัวเลี่ยงกีดกันการค้า

ปัจจุบันพื้นที่ก็มีอย่างจำกัด ป่าไม้ก็เป็นส่วนหนึ่ง เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นดูจากการใช้ประโยชน์นี่ก็เป็นสิ่งที่เราได้มีการพูดคุยกันกับกระทรวงพลังงาน และของบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ปตท. จะสามารถศึกษาเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage)  เป็นการใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นภาครัฐควรที่จะมีแนวทางหรือทิศทางที่ชัดเจนเพื่อที่จะไม่เป็นภาระของภาคเอกชน รวมทั้งเอสเอ็มอีด้วย ซึ่งขีดความสามารถพวกนี้จะทำอย่างไร งบประมาณต่าง ๆ หรือองค์ความรู้ที่ได้รับจะทำอย่างไร

โชคดีที่กรมฯ มีการบริหารก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคอยดูแลคาร์บอนเครดิต เป็นพี่เลี้ยงและคอยให้คำแนะนำ โดยผู้บริหารจะมอบนโยบายว่าจะต้องยกระดับคาร์บอนเครดิตให้เป็นระดับสากลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าพรีเมียม T-Ver เพื่อให้พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการสบายใจว่าเราไปขายคาร์บอนเครดิตที่ไหนก็มีคนรับซื้อ แต่จริง ๆ แล้วตัวคาร์บอนเครดิตก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะต้องเฉพาะเจาะจงไปที่คาร์บอนเครดิต แต่สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการดำเนินธุรกิจของเราให้ได้มากที่สุด ก่อนที่เราจะไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากที่อื่น เป็นสิ่งที่ทางภาครัฐเน้นย้ำ

เตือน “Climate change” วาระโลก ธุรกิจต้องปรับตัวเลี่ยงกีดกันการค้า

เช่นเดียวกับแผนการปรับตัว ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบไปหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เกษตร การท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพระดับต้น ๆ ของโลก  รวมถึงการย้ายถิ่นฐาน น้ำทะเลหนุนสูง ต้องกันน้ำแบบประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่อีกด้านหนึ่งไทย เป็นประเทศที่ติดทะเล 2 ฝั่งจะทำอย่างไร นี่เป็นความท้าทาย

“วันพรุ่งนี้ (26 มี.ค.67) จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีวาระในเรื่องแผนการปรับตัวเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในการพิจารณา เพื่ออนุมัติแผนฉบับนี้จะได้ให้หน่วยงานต่าง ๆ 6 สาขา เข้ามามีส่วนร่วมนำไปรวมกับแผนหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันก็มี กระทรวงเกษตรฯ,กระทรวงสาธารณสุข, เป็นต้น และทางกระทรวงทรัพย์ฯได้ไปคุยกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น กรมฯในฐานะที่เป็นผู้ดูแล กำกับ และในอนาคต หากมีกฎหมายฯ หรือร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ..... ก็อยากจะเน้นย้ำนโยบายของกรมชัดเจน โดยภาครัฐมีหน้าที่ต้องทำ พูด เตือน  ส่วนภาคเอกชน ก็มีหน้าที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ”

เตือน “Climate change” วาระโลก ธุรกิจต้องปรับตัวเลี่ยงกีดกันการค้า

นายปวิช  กล่าวอีกว่า  Climate Change ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นวาระโลก ทุกคนไม่ทำไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำก็โดนกีดกันทางการค้าโดยปริยาย เพราะเรื่องการค้ากับสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องความยั่งยืน ต้องตระหนัก ตนเชื่อมั่นว่าการมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ภาคเอกชนมีความก้าวหน้า ในขณะที่กรมเองก็มีความร่วมมือกับต่างประเทศก็สามารถที่จะไปหาเงินสนับสนุนมาได้ ไม่เฉพาะภาคเอกชนอย่างเดียว สามารถให้ภาคอื่น ๆ ด้วย ให้นำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาองค์กรของตัวเอง รวมทั้งปัจจุบันมีหลายธนาคารให้กู้ด้วย รวมทั้งกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ..... (กำลังรับฟังความคิดเห็น) ที่จะครอบคลุมด้วย

“กรมฯ เองมีเครือข่ายพี่น้องภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร เยาวชน ติดปีกให้กับการสื่อสารในวงกว้างมากขึ้น โดยกรมเองมีข้อมูล และให้เชื่อมต่อกับ Climate Center  ของฐานเศรษฐกิจ ขยายข้อมูลเหล่านั้นให้ครบทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน จะทำให้การจับมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน  และภาคประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายปวิช กล่าวในช่วงท้าย