ไทยชู 3 ประเด็น เวที WEF ร่วมมือโลกฝ่าวิกฤตการค้า-การเงิน-Climate Change

18 ม.ค. 2567 | 06:48 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 10:39 น.

ไทยชู 3 ประเด็นหลัก เศรษฐกิจสีเขียว-BCG-ทลายกำแพงการค้า ในการประชุมโต๊ะกลมเวที WEF 2024 เพื่อร่วมกับประชาคมโลก รับมือปัญหาการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการเงิน

 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม การประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยเรื่องการค้า สภาพภูมิอากาศ และการเงินโลก (Trade, Climate and Finance) ในห้วงการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2024 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีด้านการค้า สิ่งแวดล้อม และการคลังจากทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงผู้นำองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่ได้รับเชิญ โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย

การประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีสำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือ โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่มีความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้า และการเงิน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำความจำเป็นของการมียุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมุ่งมั่นของไทยที่จะสานต่อการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย โดยเน้นย้ำ 3 ประเด็นหลัก คือ

ร่วมการประชุมโต๊ะกลมเวที WEF 2024 ว่าด้วยเรื่องการค้า สภาพอากาศ และการเงินโลก

  1. การระดมทุนจากทุกแหล่งเพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ผ่านตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond)
  2. การผลักดันประเด็นนี้ ในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยยกตัวอย่างเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจแบบ Bio-Circular-Green (BCG) ของไทยในกรอบ APEC 
  3. การขจัดการกีดกันทางการค้าและส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีโดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง

ในวันเดียวกัน นายปานปรีย์ ยังได้พบหารือกับนายมาเธียส คอร์แมน (Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD โดยไทยได้ยืนยันความพร้อมที่จะเริ่มกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งเลขาธิการ OECD ก็ยินดีสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่

นายปานปรีย์ รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ พบหารือกับนายมาเธียส คอร์แมน เลขาธิการ โออีซีดี

ทั้งนี้ ไทยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ OECD มาโดยตลอด ภายใต้โครงการ Country Partnership Program โครงการ OECD-South East Asia Regional Program และการเข้าเป็นภาคีตราสารต่าง ๆ

การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว ผ่านการยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล การศึกษา และสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทย