“ราชกรุ๊ป” ฉีด 6 หมื่นล้าน ลุยลงทุน 5 ประเทศ ดันพลังงานหมุนเวียน 4,000 MW ปี 78

30 พ.ค. 2567 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 05:06 น.

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ตามเป้าหมาย ของประเทศไทย ได้จัดทำกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผนที่นำทาง การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ได้มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน สร้างการเติบโตให้แก่ กลุ่มบริษัทฯ ด้วยการลงทุนในธุรกิจหลักด้านพลังงาน และขยายฐานการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจใหม่ พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสที่จะส่งเสริม ต่อยอดและพัฒนาธุรกิจร่วมกับพันธมิตร ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3S ได้แก่

Strength Strategy ดำเนินธุรกิจโดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง มุ่งเน้นบริหารประสิทธิภาพ ของสินทรัพย์ให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ

Synergy Strategy ดำเนินธุรกิจเชิงบูรณาการ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในและ ต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนและการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจนอกภาคการผลิตไฟฟ้า ที่มีศักยภาพและมูลค่าสูงในอนาคต

Sustainability Strategy ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายทางธุรกิจ และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

“ราชกรุ๊ป” ฉีด 6 หมื่นล้าน ลุยลงทุน 5 ประเทศ ดันพลังงานหมุนเวียน 4,000 MW ปี 78

ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกและประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานทดแทนไว้ที่ 30% ในปี 2573 มีเป้าหมายลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์( tCO2e) คิดเป็น 70% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลดลง 15% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 และการเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้ 83,000 tCO2e

ขณะที่ปี 2578 จะคงกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์ สัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล 60% สัดส่วนพลังงานทดแทน 40% หรือมีกำลังผลิตราว 4,000 เมกะวัตต์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์( tCO2e) เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ลดลง 25% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้ 280,000 tCO2e

อีกทั้ง วางแผนการใช้พลังงานไฮโดรเจน และศึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีในต่างประเทศ ลงทุนการผลิต Green Hydrogen รวมถึงเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนในการวิจัย และพัฒนาร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการเข้ารับตำแหน่งว่า การดำเนินงานในช่วง 4 ปีนี้ (2567-2570) การขยายการลงทุนจะเน้นไปที่การตอบสนองเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 เป็นหลัก โดยได้จัดสรรเงินลงทุนไว้ราว 6 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งงบลงทุนส่วนใหญ่กว่า 50% จะเน้นไปที่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนเป็นหลัก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แบตเตอรี่ และไฮโดรเจน เป็นต้น ครอบคลุมการลงทุนใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

“ในไตรมาสแรก ปี 2567 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนถือหุ้นราว 10,817 เมกะวัตต์ เป็นในส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลราว 7,843 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน 2,974 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 27.41% ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อนสร้างประมาณ 1,809 เมกะวัตต์”

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัท จะใช้เงินลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 700 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าในช่วง 4 ปีนี้อีก 2,800 เมกะวัตต์ ซึ่งกว่า 50 % เป็นการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยบริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30 % ภายในปี 2573 และเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 40 % ภายในปี 2578 หรือราว 4,000 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตที่มีอยู่ประมาณ 10,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ศึกษาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และความเป็นไปได้ในการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียวจากพลังงานทดแทน ในออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพและโอกาสใน การลงทุน เพราะเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่หลายแห่งของบริษัทฯ อีกทั้ง ออสเตรเลียมีเป้าหมาย ที่จะเป็นประเทศผู้ส่งออกไฮโดรเจนชั้นนำของโลกในปี 2573 จึงมีระบบนิเวศในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ไฮโดรเจนที่พร้อม ปัจจุบันบริษัทได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนำร่องแล้ว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อไป

ขณะเดียวกันเพื่อให้บริษัทมีความมั่นใจสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก็พร้อมที่จะเข้าไปศึกษาหรือเตรียมความพร้อมในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CCS ควบคู่ไปด้วย รวมทั้งการหาโอกาสลงทุนในกรีนโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในระบบขนส่งและการพัฒนาสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) เป็นต้น

รวมถึงการลงทุนในการชดเชยหรืดดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายที่จะปลูก ฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าเพื่อดูดกลับ/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกให้ได้รวม 14,000 ไร่ ภายในปี 2577