เปิดหลักเกณฑ์ใหม่การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ

15 ส.ค. 2564 | 09:53 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2564 | 17:08 น.

ราชกิจจาฯ ประกาศ หลักเกณฑ์ใหม่การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ๒๕๖๔

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของ ผู้ให้บริการให้มีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในปัจจุบัน
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ และมาตรา ๒๖ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ๒๕๖๔”

 

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์ การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ๒๕๕๐

 

ข้อ ๔ ในประกาศนี้ “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า

 

(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนาม หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

 

(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

 

“ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” หมายความว่า ระบบการลงทะเบียนทาง เครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบุคคลใด ๆ หรือข้อมูล ระหว่างผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ บุคคลต่าง ๆ หรือหน่วยงานของรัฐ ในระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย อิเล็กทรอนิกส์หรืออินเทอร์เน็ต เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ยืนยันตัวตนและการกระทําใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยต้องอยู่ภายใต้กรอบของเทคโนโลยีที่สอดคล้องและเป็นไป ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรฐานขั้นต่ําในเรื่องระดับความน่าเชื่อถือของระบบและสื่อที่ใช้ ในการยืนยันตัวตนที่ประกาศฉบับนี้กําหนด หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมประกาศทั้งหมด
 

“การพิสูจน์และยืนยันตัวตน” หมายความว่า กระบวนการพิสูจน์และยืนยันความถูกต้อง ของตัวบุคคลไม่ว่าจะโดยตัวบุคคลนั้นเองหรือที่เกิดจากข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลโดยระบบ คอมพิวเตอร์หรือปัญญาประดิษฐ์

 

“สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” หมายความว่า สื่อหรือช่องทางในการติดต่อสื่อสาร หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบุคคลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Intermediary) ที่เน้นการสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหาระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน (Creation and Exchange of User-generated Content) หรือสนับสนุนการสื่อสารสองทาง หรือการนําเสนอ และเผยแพร่เนื้อหาในวงกว้างได้ด้วยตนเอง ซึ่งรวมถึง 

 

แต่ไม่จํากัด เฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น กระดานข่าว เครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อสําหรับการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเนื้อหา ที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ภาพนิ่ง เสียง วีดิทัศน์ หรือแฟ้มข้อมูล หรือให้บริการ เนื้อที่เก็บข้อมูล บนอินเทอร์เน็ต บล็อก (blogs) 

 

เว็บไซต์สําหรับการสร้างและแก้ไขเนื้อหาร่วมกัน เกมออนไลน์หรือโลกเสมือนที่มีผู้ใช้งานหลายคน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อออนไลน์อื่นในลักษณะ เดียวกันหรือคล้ายคลึงกันที่เปิดให้ใช้งาน เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มบุคคล หรือกับสาธารณะ
 

ข้อ ๕ ผู้ให้บริการประเภทดังต่อไปนี้มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์

 

(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกัน โดยประการอื่น ทั้งนี้ โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามของบุคคลอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น สามารถจําแนกได้ ดังนี้

 

ก. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และการกระจาย ภาพและเสียง (Telecommunication and Broadcast Carrier) ประกอบด้วยผู้ให้บริการตามที่กําหนดใน ภาคผนวก ก. แนบท้ายประกาศนี้

 

ข. ผู้ให้บริการการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Access Service Provider) ประกอบด้วยผู้ให้บริการตามที่กําหนดในภาคผนวก ก. แนบท้ายประกาศนี้

 

ค. ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ หรือให้เช่าบริการโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ (Host Service Provider) ประกอบด้วยผู้ให้บริการตามที่กําหนดในภาคผนวก ก. แนบท้ายประกาศนี้

 

ง. ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วยผู้ให้บริการตามที่กําหนดในภาคผนวก ก. แนบท้ายประกาศนี้

 

จ. ผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แอพพลิเคชั่นที่ทําให้บุคคลสามารถติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างกันได้ (Online Application Store) ประกอบด้วยผู้ให้บริการตามที่กําหนดในภาคผนวก ก. แนบท้ายประกาศนี้

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ