คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ... ครองโลก (จบ)

25 ก.ย. 2565 | 02:30 น.

คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ... ครองโลก (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3821

รัฐบาลจีนพยายามดำเนินนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตบุคลากรดังกล่าวในสารพัดรูปแบบ เราเห็นสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างเปิดหลักสูตรใหม่ และหรือขยายหลักสูตรเพื่อผลิตวิศวกรด้านเซมิคอนดักเตอร์กันเป็นจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ซึ่งเป็นเสมือน MIT ของจีน และมหาวิทยาลัยหวาจงแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Huazhong University of Science and Technology) ในเมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย 

 

ขณะที่บางแห่งถึงขนาดยกระดับความสำคัญของสาขาด้านนี้ โดยแยกเป็น “วิทยาลัยเฉพาะด้าน” ขึ้นมาเป็นเอกเทศ ในปี 2020 จีนได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปในประเทศขึ้น ที่รู้จักกันในชื่อ “Number 8 Circular” ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเอกชนเพื่อขยายการผลิตบุคลากรในระบบทวิภาคี 

ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเซินเจิ้น (Shenzhen Technology University) ได้ริเริ่มพัฒนาความร่วมมือในหลักสูตรด้านเซมิคอนดักเตอร์กับยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และทันสมัยที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่

 

เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) และสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งก็มองการณ์ไกลถึงขนาดวางแผนสร้าง “ชุมชนนวัตกรรม” (Innovative Community) เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกิจการในด้านนี้ของจีนเข้ากับบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตและพัฒนาขึ้น เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ “สมองไหล” ไปยังต่างประเทศ

จีนยังสร้างกลไกที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่จบการศึกษาและบุคลากรต่างชาติในสาขาขาดแคลนเหล่านี้ เข้ามาทำงานในจีนได้ง่ายขึ้น คล้ายกับระบบกรีนการ์ดที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกใช้เช่นกัน

                                  คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ... ครองโลก (จบ)

ผลตอบแทนที่ดีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กจีนสนใจศึกษาต่อในด้านนี้มากขึ้น จากสถิติพบว่า บัณฑิตในด้านนี้มีรายได้เฉลี่ยราว 350,000 หยวนต่อปี สูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนถึง 10 เท่าตัว และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8-10% ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจที่บัณฑิตและมหาบัณฑิตในสาขาวงจรรวม ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ศาสตร์ ของสถาบันการศึกษาของจีนได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

                              

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพสูงต่างได้รับข้อเสนอทางการเงินและอื่นๆ ที่น่าสนใจยิ่ง อาทิ รายได้ก่อนหักภาษีสูงถึง 500,000 หยวนต่อปี และอาจมีออปชั่นการซื้อหุ้นของบริษัทอีกด้วย บางรายอาจได้รับข้อเสนอจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Huawei ด้วยข้อเสนอถึง 2 ล้านหยวนต่อปีกันเลยทีเดียว

 

มหาบัณฑิตหรือผู้จบการศึกษาในระดับที่สูงกว่าจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของจีนที่รู้จักกันในลิสต์โครงการมหาวิทยาลัย 985 และ 211 ก็มักจะถูกธุรกิจในวงการจำนวน 4-5 บริษัท “ตีตราจอง” ตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษาเสียด้วยซ้ำ

 

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีหลัง ผู้เล่นในวงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของจีน อาทิ SMIC ยังทุ่มซื้อตัวบุคลากรจากไต้หวันและฮ่องกงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Taiwan Semiconductor Manufacturing Co., Ltd.  (TSMC) ผู้ผลิตชิปอันดับหนึ่งของโลก 

 

คนในวงการเกริ่นไว้ว่า โดยอาศัยค่าตอบแทนที่สูงถึง 2-3 เท่าตัว และการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับครอบครัวของวิศวกรเหล่านั้น อาทิ ที่พัก และโรงเรียนนานาชาติให้กับลูกหลาน บุคลากรในด้านนี้นับพันคนได้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่กันแล้ว

 

กลายเป็นว่าวันนี้อาการ “สมองไหล” ที่จีนแผ่นดินใหญ่เคยประสบอยู่กำลังพลิกฟื้นดีขึ้น แถมยังไม่ต้องเสียเวลาปรับตัวเพื่อลดปัญหา “ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม” อีกด้วย งานนี้อาจทำให้ชาติตะวันตกเข้าใจลึกซึ้งถึงวลีที่ว่า “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ”

 

มองออกไปในอนาคต หากจีนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณและคุณภาพได้ โอกาสที่จีนจะพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้นำ และ “ควบคุม” อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม เราคงต้องมาลุ้นกันต่อไปว่า นี่จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนก้าวขึ้นมา “ครองโลก” ได้หรือไม่ ...

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,821 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2565