วันที่ 2 กันยายน 2565 นายเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทมิว สเปซ เปิดเผยว่า แนวทางรุกธุรกิจช่วง 10 ปีแรก ประกาศเดินหน้าลงทุนสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมอวกาศ มุ่งเป็นผู้นำรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างเครือข่ายด้านวัสดุอุปกรณ์และสินค้าเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจรดปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาวัสดุผลิตดาวเทียม การจัดหาชิ้นส่วนอวกาศ การสร้างอุปกรณ์ ไปจนถึงประกอบออกมาเป็นสินค้า ยิ่งไปกว่านั้น ยังเตรียมรุกธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ หลายด้าน ทั้งนี้ ได้รับความสนใจทั้งจากสื่อมวลชน และองค์กรต่างๆ เป็นจำนวนมาก
“ มิว สเปซ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านการพัฒนาดาวเทียมและระบบพลังงานประสิทธิภาพสูง (High Power System) โดยทำให้เล็งเห็นความสำคัญในลงทุน 3 ด้าน ที่เป็นส่วนสำคัญที่ต่อยอดให้เกิดการสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมอวกาศ ได้แก่ Human Capital Knowledge (องค์ความรู้), Equipment & Machinery (เครื่องมือและเครื่องจักร) และ Raw Material (วัสดุอุปกรณ์และสารเคมี)
อีกทั้ง ยังต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะก่อนให้เกิดเครือข่ายในอุตสาหกรรมอวกาศได้อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ มิว สเปซ จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่ม Start Up รุ่นใหม่ ให้ได้รับประสบการณ์และความรู้ที่ดี เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศอย่างมั่นคง พร้อมมีส่วนช่วยในการขยายตลาดในอุตสาหกรรมอวกาศได้เติบโตอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
จากรายงานเศรษฐกิจเกี่ยวกับธุรกิจด้านอวกาศ ได้มีสื่อมวลชนรายใหญ่และกลุ่มนักวิเคราะห์ระดับชั้นนำ ประเมินมูลค่าอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลก มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยภายในปี 2569 จะเติบโตจากมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มไปถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมอวกาศ อันเป็นปัจจัยบวกทั้ง ด้านเศรษฐกิจ, ด้านการศึกษา, ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านการสร้างอาชีพและการจ้างงาน อีกทั้ง ขยายผลลัพธ์เชิงบวกให้กระจายขยายเป็นวงกว้าง ครอบคลุมไปจนถึงระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับการแถลงข่าว "Thailand Space Supply Chain 10 ปี กับแผนเดินหน้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมอวกาศเต็มรูปแบบ" ที่จัดขึ้นครั้งนี้ ได้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์กรระดับชั้นนำ ได้แก่ AIRBUS บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนการบินระดับโลก โดยยินดีสนับสนุนและมีบทบาทร่วมสร้าง Space Supply Chain ให้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ได้กล่าวถึง "New Space Economy หรือ การสร้างเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอวกาศว่า ขณะนี้ บทบาทได้พลิกจากเดิมที่มีเพียง “ภาครัฐบาล” หรือ “ประเทศมหาอำนาจ” เป็นผู้ดำเนินการหลักเท่านั้น มาสู่กลุ่มภาคเอกชน ซึ่งเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. นับได้ว่าเป็นองค์กรหลักที่มีส่วนในการสนับสนุนและผลักดัน New Space Economy ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ พร้อมทั้งผลักดันนโยบายรัฐบาลผ่าน (ร่าง) แผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 - 2580) ซึ่งนำเสนอแนวทางในการสร้าง Thailand Space Supply Chain สู่การเป็นอุตสาหกรรมอวกาศเต็มรูปแบบ"
สำหรับ การสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมด้านอวกาศ หรือ Space Supply Chain ให้มีความสมบูรณ์และครบวงจรอย่างแท้จริง ปกติต้องใช้ระยะเวลากว่า 30 - 40 ปี ในขณะที่ มิว สเปซ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นในจุดยืน ที่จะสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมด้านอวกาศอย่างจริงจัง ประกอบกับได้รับการสนับสนุน จากกลุ่มนักลงทุนที่เล็งเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมนี้ อาทิ นักลงทุนชั้นนำอย่างบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ - อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย
รวมถึงบริษัท Majuven Fund พร้อมกลุ่มนักธุรกิจเอกชนต่าง ๆ เช่น ผู้บริหารจากมูลนิธิมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) รวมทั้งนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกมากมายทั้งในและต่างประเทศ ส่งผล มิว สเปซ สามารถสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมด้านอวกาศ หรือ Space Supply Chain ได้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและยั่งยืน