ดีอี ทุ่มงบ 5 พันล้าน มอบสิทธิ์ กสท โทรคมนาคม เดินหน้าดำเนินงานเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ รองรับทราฟิกกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน ตั้งเป้าดันไทยสู่ฮับดิจิทัลอาเซียน
นายสรรพชัย หุวนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นั้นจะเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ซึ่งแคทเป็นผู้ดำเนินการทั้ง 3 โครงการ สำหรับโครงการที่ 1 คือการเพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงชายแดนประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ไปยังสถานีเคเบิลใต้น้ำจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี สงขลาและสตูล รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2300 Gbps อยู่ระหว่างการทดสอบและติดตั้งอุปกรณ์ใน 151 สถานีทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562
โครงการที่ 2 คือ การขยายความจุระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีอยู่ไปยัง ฮ่องกง ,สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้วและส่งมอบความจุ งวดที่ 1 และงวดที่ 2 จำนวน 3 ระบบ คือ AAG, APG, FLAG โดยรวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps ซึ่ง CAT ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วสามารถรองรับปริมาณทราฟิกทั้งประเทศซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,512 Gbps ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท และโครงการที่ 3 คือ การก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เพื่อเชื่อมโยงประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ล่าสุดผ่านการเสนอต่อ ครม.รับทราบและอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะมีการลงนามในเอกสารข้อตกลงระหว่างภาคีสมาชิกภายในเดือนกรกฎาคม 2562 และลงนามสัญญาจ้างภายในเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถทดสอบระบบรวมถึงส่งมอบสิทธิการใช้งานให้กระทรวงดีอีภายในปี 2564 โดยจะขยายไปทางตอนเหนือของไทย 9.6 เทราไบต์ และทางตอนใต้ 9.6 เทราไบต์ ซึ่งจะทำให้มีความจุเพิ่มขึ้นจาก 200 กิกะบิตต่อวินาที เป็น 9 เทเรบิตต่อวินาที
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการที่ 3 การเพิ่มปริมาณความจุและเส้นทางเชื่อมโยงผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำไปจีนและฮ่องกง จะส่งผลให้ประเทศไทยมีโครงข่ายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างไทยกับจีนมีความหลากหลายมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถรองรับความต้องการใช้งานที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มความจุและจัดสร้างเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ดังกล่าว จึงนับเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียน (ไทย+CLM) กับประเทศจีน (ฮ่องกง) ทั้งทางบกและทางทะเล
อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการเคเบิลใต้น้ำที่เกิดขึ้นนั้นจะรองรับการใช้งานที่จะเพิ่มในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานและธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสในการศึกษาและสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตลดลง เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐที่เป็นประโยชน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลอาเซียน และส่งเสริมศักยภาพของไทยให้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านของอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล