เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง”เร่งพัฒนา 5G ในไทย จากบทเรียนความสำเร็จของจีน” ว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 รัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ China Mobile China Unicom และ China Telecom ได้ประกาศเปิดให้บริการ 5G ใน 50 เมืองในสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ทั้งนี้ การเปิดให้บริการดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้ทางการไทยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จากประเทศจีน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีประเทศไทย
การตั้งราคาของผู้ประกอบการจีน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำและสะท้อนเจตนารมณ์ของทางการจีนที่จะส่งเสริมให้มีการใช้ 5G อย่างแพร่หลาย โดยหากเปรียบเทียบด้วยการชั่งนำหนักด้วยอัตราเฉลี่ยค่าครองชีพแล้ว อัตราค่าบริการเริ่มต้นสำหรับ 5G ในประเทศจีนถูกที่สุดจากกลุ่มประเทศนำร่องการให้บริการ 5G โดยราคาที่ประเทศจีนต่ำกว่าในสหราชอาณาจักร ที่มีราคาเหนือกว่าอันดับถัดไปถึง 25% นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับราคาค่าบริการปัจจุบันแล้ว จะพบว่าอัตราค่าบริการ 5G ชนิดถูกสุดในประเทศจีน ได้ถูกตั้งราคาให้ต่ำกว่าอัตราค่าบริการ 4G ชนิดแพงที่สุดถึง 32.4% ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่า การบริการ 5G ของจีนมีความคุ้มค่าเชิงราคาเมื่อเทียบกับ 4G มากที่สุด จากทุกประเทศที่นำร่อง 5G
การตั้งราคาที่ต่ำ บวกกับการที่ทางการเปิดให้บริการหลายท้องที่พร้อมกัน สื่อถึงเจตนารมณ์ที่จะสร้างความคุ้นเคยกับ 5G ในฝั่งผู้บริโภค ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทางภาคธุรกิจมีโอกาสได้ทดสอบโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทำให้เกิดระบบนิเวศ 5Gเช่นกัน หากทางการไทยต้องการที่จะให้การมาของ 5G นำไปสู่การต่อยอดที่จะผลักดันการพัฒนาในประเทศ การตั้งราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ไม่ยากเมื่อเทียบกับอัตรา 4G ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในจุดนี้ ราคาค่าบริการสัญญาณมือถือในประเทศไทยในปัจจุบันต่ำกว่าในทุกประเทศในกลุ่มนำร่อง 5G ทำให้เห็นได้ว่า อัตราค่าการบริการ 5G สำหรับประเทศไทยน่าจะต้องต่ำตามไปด้วย และอาจต้องถูกยิ่งกว่าในประเทศจีน จึงจะส่งเสริมการใช้บริการอย่างแพร่หลายได้
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การที่ประเทศจีนจะพัฒนาระบบนิเวศ 5G ได้สำเร็จ ยังคงมีอุปสรรคสำคัญที่ต้องได้รับการจัดการอยู่ อย่างแรก คือราคาตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ เพราะว่าแม้ฝั่งผู้ให้บริการจะเปิดให้บริการในราคาไม่แพง หากตัวเครื่องโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับ 5G ได้ มีราคาแพงเกินกว่าที่ประชากรทั่วไปส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ จุดนี้ก็จะจำกัดอัตราการใช้บริการในแต่ละท้องถิ่นและโอกาสเชิงธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่จะต่อยอดจากการมาของ 5G ทั้งนี้ ตัวเลขจากสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจีน (CAICT) ระบุว่าเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ยอดขายโทรศัพท์มือถือระบบ 5G ในประเทศจีนอยู่ที่เพียง 219,000 เครื่อง หรือ 0.7% ของยอดขายโทรศัพท์มือถือทั้งหมด ซึ่งสื่อว่า แม้ในประเทศจีนเอง ราคาเครื่องที่สูงก็ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญ และสำหรับประเทศไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับหลายประเทศอื่นถือว่ามีการตั้งค่าเครื่องโทรศัพท์ที่สูง ประเด็นราคาเครื่องจึงเป็นประเด็นสำคัญ ทำให้หากเป้าหมายคือการที่ประชากรไทยจะเข้าถึง 5G ได้อย่างแพร่หลาย ผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาการนำเสนอสัญญารายเดือนซึ่งพ่วงตัวเครื่องไว้ในอัตราค่าบริการรายเดือน โดยไม่ต้องมีการจ่ายค่าเครื่องเพิ่ม เพื่อลดต้นทุนการเริ่มใช้บริการ 5G
อีกประเด็นสำคัญคือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากแม้ประเทศจีนจะเปิดให้บริการ 5G พร้อมกับประเทศผู้นำเทคโนโลยีอื่น เช่นประเทศสหรัฐฯ หากการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในประเทศจีนล้าหลังกว่าในประเทศอื่นเหล่านั้น ประเทศจีนก็จะไม่สามารถพัฒนาระบบนิเวศ 5G ที่จะผลักดันให้ตนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีได้อยู่ดี ยกตัวอย่าง กรณีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (AV) ซึ่งได้มีการศึกษาสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์และพบว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการจีนยังคงตามหลังผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลกซึ่งเป็นผู้นำในด้านนี้อยู่ราวสองถึงสามปี สำหรับประเทศไทย แม้ว่า 5G ไม่น่าจะเปิดให้บริการก่อนไตรมาส 3 หรือปลายปี 2563 ทางการไทยและผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพต่อยอดกับ 5G ได้ ก็ควรใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็น ทำให้เมื่อมีการเปิดให้บริการ จะได้มีการเชื่อมต่อกับธุรกิจใหม่ได้ทันที
ในที่สุดแล้ว การสร้างความคุ้นเคยในประชากรทั่วไปกับ 5G การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดจาก 5G การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ จะช่วยผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศ 5G ในประเทศจีนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่การจะที่ประเทศจีนจะบรรลุถึงจุดหมายขึ้นเป็นผู้นำเชิงเทคโนโลยีได้นั้น จะต้องตอบโจทย์สำคัญอื่น เช่นต้นทุนเครื่องโทรศัพท์ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ต่อยอดจาก 5G ให้ได้ดีขึ้นและหลากหลายขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่ทางการไทยควรพิจารณาสำหรับการพัฒนา 5G ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้