ดัน 27 เมืองเข้าโครงการระดับโลก “City Possible”

20 ม.ค. 2563 | 09:27 น.

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ประกาศความร่วมมือกับ มาสเตอร์การ์ด ในโครงการระดับโลกที่มีชื่อว่า “City Possible” เพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ซึ่งดีป้าได้นำเมืองที่มีศักยภาพมากถึง 27 เมืองเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ นับเป็นการเข้าร่วมโครงการพร้อมกันเพื่อขยายเครือข่ายที่มากที่สุด นับเป็นก้าวสำคัญของดีป้าในการดำเนินงานสู่เป้าหมายเพื่อให้เกิดเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 100 เมืองภายในปี 2563 หลังจากประสบความสำเร็จกับเมืองนำร่องอย่าง ภูเก็ต ขอนแก่น กรุงเทพฯ และเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ดัน 27 เมืองเข้าโครงการระดับโลก “City Possible”

ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า“เมื่อปีที่แล้ว 27 เมืองทั่วประเทศไทยได้ส่งแผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาสู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะกับดีป้าเพื่อให้ได้รับการประกาศเขตเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่ดีป้าสนับสนุนอยู่ ดังนั้น ปีนี้จึงจะเป็นปีของการลงมือปฏิรูปเมืองตามแบบแผนพัฒนาที่ได้ยื่นต่อดีป้า และเพื่อเป็นการส่งเสริมความตั้งใจเหล่านี้ แทนที่จะเลือกเพียงหนึ่งเมือง เราได้นำทั้ง 27 เมืองดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ City Possible นับเป็นเกียรติที่เราได้เป็นพันธมิตรรายแรกจากภาครัฐที่เข้าร่วมเครือข่ายของ City Possible” การพัฒนาประเทศให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะคือเสาหลักของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดีขึ้น ตอนนี้หลายพื้นที่ใน 27 เมืองที่ได้รับการประกาศเขตเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้ง 7 องค์ประกอบของการเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะแล้ว อันได้แก่ การสัญจร ชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การปกครอง อาคาร และพลังงาน

 

ริเริ่มโดยมาสเตอร์การ์ด City Possible เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเครื่องมือด้านเทคโนโลยีอันทรงพลังเพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดีขึ้น มอบการเข้าถึงเครือข่ายระดับโลกที่เชื่อมต่อผู้นำเมืองต่างๆ ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา รวมถึงองค์กรภาครัฐและเอกชนจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสมาชิกโครงการจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรม รวมถึงเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความท้าทายและปัญหาที่ทุกเมืองต้องเผชิญเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน

 

“ในความเป็นจริง เมืองทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายที่เหมือนๆ กัน หากแต่ต่างฝ่ายต่างแก้ไขปัญหา City Possible จึงทำหน้าที่เสมือนตัวกลางเชื่อมต่อเมืองสมาชิกจากทั่วโลกด้วยข้อมูลและทรัพยากร ทำให้การดำเนินงานเร็วขึ้นและก่อให้เกิดการปกครองเมืองอย่างอัจฉริยะ” มิเกล กามิโน จูเนียร์ รองประธานกรรมการบริหารเมืองระดับสากล มาสเตอร์การ์ด กล่าว “มาสเตอร์การ์ดมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ช่วยส่งเสริมผู้นำเมืองด้วยวิธีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพในระดับสากล เนื่องด้วยเร็วๆ นี้ดีป้ากำลังจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้นำขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ  (Chief Smart City Officers) เพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้นำเมืองต่างๆ”

 

“สำหรับประเทศไทย มาสเตอร์การ์ดกำลังมองหาช่องทางในการนำกุญแจเมืองมาสเตอร์การ์ด (Mastercard City Key) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือกับเมืองโฮโนลูลู (City of Honolulu) เมืองหลวงของรัฐฮาวาย ที่นำการระบุตัวตนมาผูกกับการชำระเงินเพื่อช่วยให้ประชากรสามารถเข้าถึงบริการของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากขึ้น City Key ถือเป็นความสำเร็จโดยตรงจากความร่วมมือและกิจกรรมร่วมที่เกิดจากการสนับสนุนโดยโครงการ City Possible” จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าว

 

เมืองยะลา หนึ่งใน 27 เมืองที่ได้รับการประกาศเขตเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงจากความพยายามของนายกเทศมนตรีในการพัฒนาเมืองยะลาให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ “ความสำเร็จของแพลตฟอร์ม City Key ของเมืองโฮโนลูลูเป็นแรงบรรดาลใจที่ทำให้ยะลาเห็นถึงขีดความสามารถของเทคโนโลยีในการนำมาใช้เพื่อหาทางออกที่ครอบคลุมทั้งชุมชน เมื่อชาวยะลามีความภูมิใจในเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ มันจะช่วยดึงดูดความสนใจจากคนภายนอกให้อยากมาอาศัยและท่องเที่ยว รวมถึงทำธุรกิจ” นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จคือการผลักดันการพัฒนาอย่างเนื่อง การดำเนินงานขั้นต่อไปของดีป้าคือการร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ดในการนำความรู้ความชำนาญจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private-Partnerships; PPPs) ริเริ่มโดยหน่วยงานฝ่ายความสัมพันธ์ภาครัฐ (Government Engagement) ของมาสเตอร์การ์ด มาสู่เมืองอัจฉริยะของไทย

 

โครงการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะจำเป็นต้องมีเงินลงทุนในการผลักดันให้เกิดขึ้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นวิธีในการหมุนเวียนเงินทุนและดึงเอาความสามารถของภาคเอกชนมาใช้เพื่อเป้าหมายส่วนรวม “การจัดการเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องและการจัดหาเงินทุนมักเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โครงการพัฒนาหลายโครงการล่าช้า มาสเตอร์การ์ดจึงเล็งเห็นว่า การสนับสนุนดีป้าผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเมืองไทยจะช่วยให้ดีป้าก้าวผ่านอุปสรรคเพื่อให้เมืองน่าอยู่อัจฉริยะกลายเป็นจริงได้” เจอรัล ซัน รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายความสัมพันธ์ภาครัฐ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าว

 

ในช่วงกลางปี 2563 ดีป้าจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Smart City Showcase เชิญเมืองสมาชิกในโครงการ City Possible มาร่วมจัดแสดงแผนการดำเนินงานการเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ พร้อมทั้งเชิญเมืองอัจฉริยะของไทยขึ้นเวทีใหญ่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงเมือง พร้อมทั้งหาทางออกและความร่วมมือใหม่ๆ