‘เอไอเอส-ดีแทค’ ยอดดิจิทัลเซอร์วิสพุ่ง

09 มิ.ย. 2563 | 23:40 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2563 | 06:48 น.

โควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคสู่บริการดิจิทัลเซอร์วิส เชื่อกลายเป็นวิถีใหม่ยุค New Normal “เอไอเอส” เผยผู้ใช้แอพ my AIS ทำธุรกรรมแอกทีฟมากกว่า 5.5 ล้านคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 30% แชตบอทอัจฉริยะมียอดการติดต่อเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ด้านดีแทค ระบุยอดผู้ใช้งานรายวันบนเว็บไซต์ dtac.co.th เพิ่มขึ้น 40%

นางบุษยา สถิรพิพัฒน์กุล ผู้บริหารหน่วยธุรกิจบริหารลูกค้าและสิทธิประโยชน์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิด New Normal และผลักดันให้เกิดการใช้งานออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การช็อปปิ้งออนไลน์ที่มียอดการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แอพพลิเคชันฟู้ดดีลิเวอรีมียอดการใช้งานผ่านเครือข่ายเอไอเอสเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว เช่นเดียวกับแอพพลิเคชัน my AIS ที่ล่าสุดมียอดดาวน์โหลดอยู่ที่ 14 ล้านครั้ง และผู้ใช้งานแอกทีฟมากกว่า 5.5 ล้านรายต่อเดือน เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ใช้งานสูงสุด 1 ล้านรายต่อวัน ขณะที่ผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 72.4% หรือกว่า 5.8 แสนรายต่อเดือน และยอดจ่ายบิล เติมเงิน พุ่งถึง 200% ทั้งนี้เอไอเอสตั้งเป้าผู้ใช้งานแอพ my AIS แอกทีฟ ยูสเซอร์ เพิ่มขึ้น 10 ล้านเลขหมายต่อเดือน

สำหรับ ฟีเจอร์ อาสก์ อุ่นใจ (ASK Aunjai) หรือ AI แชต บอทอัจฉริยะมียอดการติดต่อเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว โดยมีการทำรายการกว่า 2 แสนทรานแซกชัน สามารถให้บริการลูกค้าได้เบ็ดเสร็จถึง 90% โดยไม่ต้องส่งต่อให้พนักงาน และมีค่าความถูกต้องแม่นยำสูงถึง 83% ได้รับความพึงพอใจจากลูกค้าสูงมากถึง 92.5% ทั้งนี้ยังมีการนำข้อมูลการใช้งานของลูกค้ามาประมวลผลเพื่อออกแพ็กเกจที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด โดยบริการ อาสก์ อุ่นใจ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือการปรึกษาแพ็กเกจและการใช้งานบริการ การเช็กยอดคงเหลือของอินเตอร์เน็ตและค่าโทร. รวมถึงการชำระค่าบริการและบริการเอไอเอส ไฟเบอร์

“บริการที่เรียกได้ว่าเป็น New Normal ของผู้ใช้เอไอเอส มองว่าเป็นแอพพลิเคชัน my AIS, บริการอาสก์ อุ่นใจ, LINE @ AIS Shop ซึ่งถึงแม้ว่าช็อปจะเปิดให้บริการแล้วแต่ลูกค้าก็ยังเข้ามาใช้บริการอยู่ โดยมีพนักงานที่ให้คำแนะนำเป็นพนักงานที่ช็อปซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวก ซึ่งจะกลายเป็นวิถีใหม่ของผู้ใช้งาน เอไอเอส” นางบุษยา กล่าว

 

ด้านนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า คาดการณ์ว่า 1.ช่องทางดิจิทัลเติบโตเร็วมาก 2.มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคมจะกลายเป็น “พฤติกรรมใหม่” ในอนาคต และ 3.ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 จะใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนาน ทั้งนี้ช่องทางดิจิทัลในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าความนิยมในการใช้แอพพลิเคชันที่ช่วยในการทำงาน อาทิ แอพ Zoom และ Office 365 ซึ่งดีแทคแอพมีการเติบโตถึง 40% ตั้งแต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะที่ผู้ใช้งานรายวันบนเว็บไซต์ dtac.co.th เพิ่มขึ้น 40% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ 75% ของการใช้งานอินเตอร์เน็ต ยังคงเป็นโซเชียลมีเดีย เติบโต 9% และวิดีโอสตรีมมิ่ง เติบโตขึ้น 6% ซึ่งประเภทของแอพพลิเคชันที่มีการใช้งานเติบโตสูงสุด 5 อันดับ คือ 1.แอพพลิเคชันฟู้ด ดีลิเวอรี 2. ข่าวสารออนไลน์ 3. เกม 4. การตกแต่งบ้าน และ 5. การเงิน (Financial) นอกจากนี้แอพพลิเคชัน TikTok มีปริมาณใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่ม 600% , Zoom มีปริมาณใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่ม 200%

ทั้งนี้จากการที่ช่องทางดิจิทัลกลายเป็น “ความปกติใหม่” ของคนทั้งหลาย ดีแทคได้นำความเชี่ยวชาญทางดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานมาให้บริการแก่ภาคธุรกิจ ทั้งเอสเอ็มอีและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้พนักงานสามารถติดต่อสื่อสารได้ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) จากรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการเติบโตในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ แต่เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในเดือนมีนาคม ทำให้ดีแทคสูญเสียสมดุลทางธุรกิจไปบ้าง แต่ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นนั้น ต่างได้ผล
กระทบที่รุนแรงกว่า ด้วยกำลังซื้อและความมั่นใจผู้บริโภคที่ลดต่ำลงอาจใช้เวลา “ระยะหนึ่ง” ในการฟื้นตัวให้เท่ากับก่อนเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด ในระยะสั้นคนไทยกำลังร่วมกันฝ่าฟันผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยจากการระบาดของเชื้อโควิด-19

ส่วนนายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากลุ่มทรูเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตผ่านพฤติกรรมผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มการใช้ชีวิตแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ทั้งโซลูชันด้านดิจิทัล ธุรกรรมและการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้วิกฤติโควิดครั้งนี้ ช่วยเร่งให้กลุ่มทรูสามารถเติบโตร่วมไปกับการก้าวสู่วิถีชีวิตแบบใหม่หรือ New Normal ด้วยระบบนิเวศและโซลูชันดิจิทัลที่ครอบคลุมและครบครัน”