ดร.อธิป อัศวนานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาดิจิทัลฯได้จัดระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการสตาร์ทอัพชั้นนำของไทย ผ่านการประชุมระบบออนไลน์ เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมความแข็งแกร่งให้สตาร์ทอัพไทยแข่งขันได้ในระดับโลก และสนับสนุนการขับเคลื่อนการลงทุนในมิติต่าง ๆ ของธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายของภาครัฐต่อไป
ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลฯที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)ในฐานะประธานสภาดิจิทัลฯได้กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคเอเชียในยุคดิจิทัล ที่ผ่านมาได้ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ตลอดจนจัดทำเป็นข้อสรุปเสนอต่อภาครัฐ ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพ และสร้างระบบนิเวศ(Ecosystem)ที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย รวมทั้งการแก้ไขข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกให้เข้ามาตั้งฐานในประเทศไทย
สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ มีตัวแทนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 30 ราย อาทิ บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการระบบคิวออนไลน์ ทั้งร้านอาหารในห้าง โรงพยาบาล ธนาคาร และศูนย์บริการชั้นนำต่างๆ บริษัท พี ยู ยู เอ็น อินทเลลิเจนท์ จำกัด ผู้ให้บริการโปรแกรมบัญชี PeakEngine (พีคเอนจิ้น) บริษัท อุ๊คบี จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม e-Book และบริษัท Arincare ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องนโยบายส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะโครงสร้างกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีการส่งเสริมให้เอื้ออำนวยแก่ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การลดหย่อนภาษีให้กับ Angel Investor หรือนักลงทุนอิสระที่มาลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้กับสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น, การลดหย่อนภาษีให้กับผู้ลงทุนในการระดมทุนแบบ Crowd Funding, การลดอัตราภาษีจากการลงทุน(Capital Gain Tax)การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการระดมทุนด้วยหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Note) สำหรับสตาร์ทอัพ, การลดหย่อนภาษีของแรงงานที่มีทักษะสูง
การเพิ่มโควตาแรงงานต่างชาติ, การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นพนักงานบริษัท (ESOP) สำหรับสตาร์ทอัพ, การแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอัตราการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากสตาร์ทอัพหรือธุรกิจเอสเอ็มอี รวมไปถึง การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของสตาร์ทอัพ เป็นต้น
ดร.อธิปกล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมด เพื่อเร่งนำเสนอต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมติดตามอย่างใกล้ชิดในการผลักดันให้เกิดความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ ในการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่แก้ไข ปรับปรุงในเรื่องนโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกียวข้องกับการลงทุนในระดับต่างๆ อันช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเพื่อให้ธุรกิจผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย ให้สามารถเติบโตเพื่อการแข่งขันได้ในระดับโลกต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาดิจิทัลฯ ย้ำองค์กรเร่ง “ทรานส์ฟอร์ม” บุคลากรสู่ดิจิทัล
สภาดิจิทัลฯดันไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค
“สภาดิจิทัลฯ” ผนึกค่ายมือถือแจกซิมฟรีให้นักศึกษา