ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) กับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และจำเป็นต้องมีเครื่องมือสําหรับการพัฒนาบุคลากรด้าน AI เชิงลึก ที่ตรงกับโจทย์การพัฒนาประเทศของไทย โดยนักวิจัย นักพัฒนา นักศึกษา สามารถนําผลงานพัฒนาด้าน AI ดังกล่าวมาเปิดบริการเพื่อทดสอบที่แพลตฟอร์ม AI FOR THAI (www.aiforthai.in.th) ขณะเดียวกันภาคธุรกิจที่สำคัญ อุตสาหกรรม ซึ่งมี S-Curve ด้าน AI แบบก้าวกระโดด สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญให้ Startup/SME ได้เชื่อมต่อไปทดลอง สร้างนวัตกรรมได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ประเทศ ลดค่าใช้จ่าย ในการนําเข้าและ ไม่เป็นเพียงผู้ใช้อีกต่อไป นั้นหมายถึงเราสามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศได้เอง”
AI FOR THAI แพลตฟอร์มบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2562 ภายใต้แนวคิด “AI สัญชาติไทย” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการ API ด้านปัญญาประดิษฐ์ ประกอบด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีการประมวลผล ภาพ การสนทนา (เสียงและแชต) และข้อความ ซึ่งการให้บริการในปัจจุบัน มีบริการ API ที่ให้ใช้ประโยชน์ได้แบ่งออกเป็น ด้านข้อความ 20 บริการ ด้านภาพ 13 บริการ ด้านเสียงและแชตบอท 3 บริการ รวม 36 บริการ โดยมีผู้เข้ามาใช้งานนักพัฒนา(Developers) จำนวน 5,458 ราย มีการเรียกใช้ (Request)งานกว่า 20.6 ล้านครั้ง โดยบริการต่าง ๆ มาจากทั้งในส่วนของ เนคเทค-สวทช., KBTG, iApp technology, Punyapradit technology ซึ่งเปิดกว้างให้ทุกหน่วยงานเข้าร่วมให้บริการ โดยได้รับการสนับสนุนโครงสร้างสร้างพื้นฐานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งให้บริการในลักษณะของ Free with Limit service สำหรับนักพัฒนาและผู้สนใจทั่วไป เพื่อเดินหน้าขยายปริมาณการใช้งานสำหรับบริษัทหรือหน่วยงานที่ต้องการทำ Proof of concept สู่การใช้งานจริง ล่าสุดแพลตฟอร์ม AI FOR THAI ได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service : GDCC) ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากร (resource) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางด้าน AI และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี
การเสวนาในโอกาสนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัจจัยและความท้าทายของการพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทยสู่ AI Service Platform ระดับประเทศ โดยนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร CEO บริษัทไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด และดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ CEO บริษัท เอไอไนน์ (AI9) อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง