บราเดอร์ ชี้โควิดโจทย์หินธุรกิจไอที‘ รอดไม่รอด’อยู่ที่ปรับตัว

12 ก.ค. 2564 | 08:49 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2564 | 16:02 น.

บราเดอร์ พร้อมรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ เผยเทรนด์ WFH และเรียนออนไลน์หนุนเครื่องพิมพ์ขยายตัว เดินหน้าพัฒนาศักยภาพทีมงาน มั่นใจหากแผนกระจายวัคซีนภาครัฐตามเป้า ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว-การบริโภคภายในประเทศ’ กลับมาทำงาน ช่วยเพิ่มเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไอที

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยมาตั้งแต่ปี 2563 แม้ภาครัฐพยายามจะกระตุ้นด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ แต่เมื่อวิกฤติโควิด-19 ยังยืดเยื้อ ก็ถือเป็นความท้าทายที่ยากในการรับมือ ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจจะกลับมาเดินหน้าได้ 3 กลไกหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการส่งออก, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และความแข็งแกร่งของกำลังซื้อในประเทศต้องเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว แต่ปัจจุบันมีเพียงกลุ่มอุตสาหกรรมการส่งออกที่เริ่มมีการขับเคลื่อนได้เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เริ่มจัดการกับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ดีขึ้น อาทิ อเมริกา จีน และประเทศในทวีปยุโรป ด้านความพยายามส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อหวังกระจายโมเดลดังกล่าวไปตามจังหวัดหลักด้านการท่องเที่ยวก็อาจไม่คึกคักอย่างที่คาด รวมถึงการอัดเม็ดเงินสู่ระบบเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศครั้งใหม่นี้ ก็ยังไม่สามารถส่งผลได้อย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากการจัดแคมเปญช้อปดีมีคืนที่สร้างความคึกคักให้แก่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หากภาครัฐนำแคมเปญดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศได้อย่างดี

บราเดอร์ ชี้โควิดโจทย์หินธุรกิจไอที‘ รอดไม่รอด’อยู่ที่ปรับตัว

 “เศรษฐกิจในภาพใหญ่และธุรกิจไอทีของไทย จะกลับมาเดินต่อได้อย่างมีเสถียรภาพ แผนการกระจายวัคซีนของภาครัฐต้องทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เพื่อคืนความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วน” นายธีรวุธ กล่าวแสดงความเห็น “แม้ธุรกิจไอทีจะมีข้อได้เปรียบจากกระแส Work from Home และการเรียนออนไลน์ ที่ทำให้ความต้องการในตลาดขยายตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19    เห็นได้จากการเติบโตในกลุ่มลูกค้า home use ของบราเดอร์ แต่สิ่งที่ต้องบริหารจัดการและวางแผนอย่างรอบคอบคือ แผนการผลิตและการจัดหาชิ้นส่วนให้เพียงพอต่อการผลิต รวมทั้งเตรียมการณ์ล่วงหน้าในกรณีเกิดการล็อกดาวน์ในบริเวณโรงงานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าเพื่อป้อนสู่ตลาด ที่ผ่านมาหลายๆธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไอทีต้องเผชิญกับปัญหาโรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่เชื่อว่าภายในสิ้นปี 2564 จะสามารถปรับสู่ภาวะสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายได้อีกครั้ง”

 

ทั้งนี้ นายธีรวุธ ยังกล่าวถึงแผนการปรับตัวของ บราเดอร์ ว่า “บริษัทฯ มีการปรับแผนธุรกิจอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา  ให้ความสำคัญต่อการบริหารค่าใช้จ่ายภายในองค์กรเพื่อบริหารต้นทุน และการเสริมศักยภาพการทำงานของบุคลากรรวมถึงปรับกระบวนการทำงานภายในและปรับองค์กรเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน คิดค้นวิธีการทำตลาดใหม่ เพื่อให้พร้อมเดินต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น เพราะถ้ารอให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้วค่อยปรับตัวก็ช้าไปแล้ว”