จากกรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. มีคำสั่งยกเลิกประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในวันที่ 28 ส.ค. นี้ ตามที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้เสนอมา
เหตุผลที่ บอร์ด กสทช. สั่งยกเลิกการประมูลเนื่องจากมีผู้ยื่นขอรับใบอนุญาติฯ เพียงรายเดียว คือ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด บริษัทฯดังกล่าวมีบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% ก่อนหน้านี้ บริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) ยื่นข้อเสนอแต่สุดท้ายก็ถอย
ส่วนทางด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่าบอร์ดมีมติสั่งยกเลิกประมูลวงโคจรดาวเทียมฯออกไปก่อน เนื่องจากมีเอกชนยื่นแสดงความสนใจเพียงรายเดียวอาจไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล พร้อมให้คืนค่าหลักประกันการประมูลและค่าพิจารณาคำขอรับอนุญาตแก่ผู้รับเอกสารการคัดเลือกทุกราย
ส่อแววล้มประมูลตั้งแต่แรก หลัง “ดีอีเอส” ออกมาท้วง กสทช.เลื่อนประมูล
ก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เพื่อเปิดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม
อย่างไรก็ตาม ตนได้ส่งหนังสือไปถึง กสทช.ชุดรักษาการ เพื่อขอให้ชะลอการเปิดประมูลออกไป และรอ กสทช. ชุดใหม่ที่อยู่ในกระบวนการสรรหา เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ
ขณะเดียวกันหาก กสทช.ดำเนินการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญา โดยเฉพาะสิทธิการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียมไทยคม 4 ที่ยังมีภาระผูกพันที่จะหมดอายุสัญญา ในวันที่ 10 ก.ย.64 เพราะหากมีกรณีไทยคม 4 เกิดข้อขัดข้อง เสียหาย ก่อนสิ้นอายุสัญญา บริษัทคู่สัญญาต้องรับผิดชอบจัดหาดาวเทียมทดแทนในระยะเวลาตามสัญญา
"กสทช.ชุดรักษาการ ควรพิจารณาชะลอการประมูล โดยคำนึงถึงการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่มีความสำคัญ และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน รวมทั้งยังควรมีแนวทางดำเนินการ ในทิศทางเดียวกับแนวนโยบายของบอร์ดดีอีด้วย" รมว.ดีอีเอส กล่าว
เปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาติ
การประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญจากระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาติ เนื่องจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ และไทยคม 6 ที่รับโอนย้ายลูกค้ามาจากดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งถูกปลดระวางตั้งแต่ปีก่อน กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 10 ก.ย. นี้
“ดีอีเอส” ลงนามสัญญามอบสิทธิให้ NT บริหารไทยคมหลังหมดสัมปทาน 10 ก.ย.64 นี้
เป็นเพราะสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 10 ก.ย. เมื่อเร็วๆ นี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมลงนามในสัญญามอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
การลงนามในสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้ NT เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ จนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 10 ก.ย. นี้
สำหรับราคาหุ้น ไทยคม เมื่อวานนี้ราคาปิดสูงสุด 10.20 บาท ล่าสุดวันนี้ 20 ส.ค.ราคาเปิดลดลงอยู่ที่ 9.70 บาท
ผลมติล้มประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งนี้ สะเทือนถึง “ไทยคม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสัมปทานกำลังสิ้นสุดลง ทรัพย์สินกิจการดาวเทียมดีอีเอส มอบหมายให้ NT บริหารจัดการ
ต้องรอลุ้นว่า NT จะต่อลมหายใจให้ “ไทยคม” เข้ามาเป็นพันธมิตรหรือไม่.... ที่สำคัญ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ในฐานะผู้ถือหุ้นใหม่ใน INTUCH จะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร น่าติดตามยิ่ง....