กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการผลักดันและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพช่องปากและการรักษาทางทันตกรรม”
นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. กล่าวว่า A-MED เป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทางที่ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์และส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางแพทย์และสุขภาพ การลงนามความร่วมมือ “โครงการผลักดันและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพช่องปากและการรักษาทางทันตกรรม” ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ สวทช.พร้อมที่จะสนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ชั้นสูง โดยจะร่วมคิดค้น ออกแบบ พัฒนา คัดเลือก ผลิตและศึกษาความเป็นไปได้ในการทำตลาดและการขายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางทันตกรรมต่างๆ เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ รวมทั้งร่วมกันดำเนินการประเมินด้านคลินิก มาตรฐานทางการแพทย์และการรับรองนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือในครั้งนี้
ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะมุ่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสและยกระดับอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ของประเทศไทยให้มีคุณภาพในระดับสากล และเกิดประโยชน์กับประชาชนที่จะได้มีสุขภาพที่ดีจากผลงานวิจัยของคนไทย
ทั้งนี้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นด้านทันตกรรมของ A-MED เช่น DentiiScan ที่นำไปใช้ในงานในด้านทันต กรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้าที่ให้ภาพ 3 มิติ เป็นผลงานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ สำหรับงานทันตกรรมรายแรกในประเทศ, Drill Guide หรือเครื่องมือช่วยจัดรากฟันเทียม, ครอบฟันและสะพานฟัน และฟันปลอมแบบถอดได้โดยใช้วิธีการทางดิจิทัลที่มีความแม่นยำสูง และ M-Bone ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์สำหรับใช้เป็นวัสดุทดแทนกระดูกที่ช่วยในการเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างกระดูกและมีความปลอดภัยในงานด้านทันตกรรม
รศ.ทพ.ดร.พรชัย คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สวทช.ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือผลักดันและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพช่องปากและการรักษาทางทันตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อให้เกิดผลผลิตที่เป็นคุณประโยชน์ในการพึ่งพาตนเองเชิงโครงสร้างสาธารณสุข ทันตกรรม และเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการรักษาทางทันตกรรมทัดเทียมต่างประเทศ แต่ผลิตภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ในการรักษาทางทันตกรรมส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลต่ออัตราค่ารักษาบริการทางทันต กรรมที่สูง
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สวทช.ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพช่องปากและการรักษาทางทันตกรรม เพื่อทดแทนการนำเข้า และสร้างนวัตกรรมทางทันตกรรมจากศักยภาพของคนไทยในอนาคต