กทปส.สุดปลื้ม ขอรับทุนประเภท 1 ตามเป้าวงเงินกว่า 1.5 พันล้านบาท

25 ส.ค. 2564 | 11:22 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 18:35 น.

กทปส. เผยผลการดำเนินงานเปิดให้ทุนประเภทที่ 1 ไตรมาสแรกผลตอบรับตามเป้า มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการรวม 113 โครงการ รวมวงเงินขอรับการสนับสนุนทั้งสิ้น 1,567,124,612 บาท หวังดันงานวิจัยสร้างประโยชน์ให้ประเทศ รวมทั้งยังเป็นการลดการพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ

นายชาญวุฒิ อำนวยสิน  ผู้อำนวยการ สำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานและสนับสนุนการพัฒนาวิจัยของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ในปีนี้ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะและหวังให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างครอบคลุม  โดยในส่วนการดำเนินงานตามนโยบายของ กทปส. ในปี 2564 ภายหลังเปิดให้ทุนประเภทที่ 1 เมื่อไตรมาสแรกโดย กทปส. กำหนดกรอบการจัดสรรเงินทุนสำหรับทุนประเภทนี้ไว้ที่ 400,000,000 บาท เมื่อปิดรับข้อเสนอไปแล้วมีผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการรวม 113 โครงการ รวมวงเงินขอรับการสนับสนุนทั้งสิ้น 1,567,124,612 บาท

กทปส.สุดปลื้ม ขอรับทุนประเภท 1 ตามเป้าวงเงินกว่า 1.5 พันล้านบาท

ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการยื่นขอทุนในมาตรา 52(2) ทางด้านการวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 64 โครงการ วงเงินรวม 1,080,755,744 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 68.96 % ซึ่งถือว่าสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของคำขอทั้งหมด  ส่วนการขอทุนในมาตรา 52(1) ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการและบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง มีจำนวน 24 โครงการ วงเงินคำขอ 298,238,331 บาท คิดเป็นสัดส่วน 19.03 % และยื่นขอในมาตรา 52(3)  ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร เป็นการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม จำนวน 25 โครงการ วงเงินคำขอ 188,130,536 บาท คิดเป็น 12 %

 

ทั้งนี้โครงการที่ขอรับการจัดสรรในปีนี้ มีโครงการที่น่าสนใจจำนวนมาก โดยขณะนี้ทุนประเภทที่ 1 กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และคาดว่าจะสามารถทยอยประกาศผลโดยสามารถติดตามการประกาศผลผู้ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนทุนได้จากช่องทางเว็บไซต์ได้ที่  www.btfp.nbtc.go.th หรือช่องทางเฟซบุ๊ค facebook : กทปส.-กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบย้อนหลังไป 2 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการยื่นขอทุนถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดย การยื่นขอทุนในมาตรา 52(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา มีสัดส่วนสูงสุด 69.62 %และ 68.10 %ตามลำดับ  เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการซึ่งทาง กทปส. ได้มีการกำหนดวงเงินกรอบวงเงินในการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านงานวิจัยและพัฒนา สูงสุดต่อโครงการไว้ที่ 50,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าด้าน USO และพัฒนาบุคลากร ที่มีการกำหนดกรอบวงเงินการยื่นคำขอต่อโครงการอยู่ที่ 20,000,000 บาท ประกอบกับการให้ทุนของ กทปส. เปิดโอกาสให้ผู้รับทุน ได้มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากงานวิจัยได้ เนื่องจากทาง กทปส. ต้องการเห็นงานวิจัยที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยังเป็นการลดการพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศหากงานวิจัยนั้นสามารถพัฒนาโดยฝีคนไทย  ซึ่งนับว่าสอดคล้องตามนโยบายเป้าหมาย 

ที่ผ่านมากลุ่มยื่นขอรับทุนหลักๆ เพื่อขอรับการส่งเสริมสนับสนุนจะเป็นมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นกลุ่มส่วนราชการ ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสมาคม มูลนิธิ โดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ กทปส. ขอเชิญชวนกลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) และหรือสตาร์ทอัพ (Start up) เข้ามายื่นขอทุนกับทาง กทปส. เนื่องจากมีการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ในการให้ทุนของ กทปส. โดยกำหนดคุณสมบัติให้กลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนได้ตั้งแต่ปี 2560 ที่ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่เริ่มใช้ แต่จนถึงปีขณะนี้ก็ยังไม่มีกลุ่มดังกล่าวมายื่นขอรับทุน  ทั้งนี้ กทปส. อาจจะต้องทำการสำรวจและวิเคราะห์ว่าปัจจัยใดที่กลุ่มดังกล่าวยังไม่มีความสนใจที่จะมายืนขอรับทุน ซึ่งเป็นโจทย์หลักที่จะต้องเร่งดำเนินการ โดยหวังกำลังในกลุ่มนี้จะสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจประเทศให้เข้มแข็งยั่งยืน