บอร์ด กสทช. ไฟเขียว NT ใช้สถานีฐานร่วมกับไทยคม 7 และ 8 เป็นการชั่วคราว

09 ก.ย. 2564 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 16:43 น.

บอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบให้ผู้ได้รับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ทุกรายใช้งานร่วมกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 สามารถใช้คลื่นความถี่และตั้งสถานีภาคพื้นดินได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น

จากกรณีที่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ที่ได้รับสัมปทานจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เป็นระยะเวลา 30 ปี กำลังสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 10 กันยายนนี้ หลังจากนั้น วันที่ 11 ก.ย. ดาวเทียมไทยคม 4 และ ดาวเทียมไทยคม จะส่งคืนทรัพย์สินมายัง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT  ทำหน้าที่ให้บริการเป็นวันแรกแทน บมจ.ไทยคม หลังจากกระทรวงดีอีเอส มอบหมายให้ NT บริหารจัดการดาวเทียมไทยคมทั้งสองดวง

 

ล่าสุดนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (8 ก.ย. 2564) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบให้ผู้ได้รับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และ/หรือ การอนุญาตให้ตั้งสถานีภาคพื้นดิน (Earth Stations) ทุกราย ที่ใช้งานร่วมกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 10 ก.ย. 2564 ตามสัญญาสัมปทาน สามารถใช้คลื่นความถี่และตั้งสถานีภาคพื้นดินได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น หรือ กสทช. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น พร้อมทั้งอนุญาตให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม การอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับมอบสิทธิ์ในการบริหารทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับผลกระทบ

 

สำหรับ ดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมประเภท High Throughput หรือ HTS ดวงแรกของโลก ประจำอยู่ที่วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ให้บริการเพื่อภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคโทรคมนาคม นำเสนอบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านดาวเทียมที่คุ้มค่าสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ดาวเทียมดวงนี้ประกอบด้วยระบบการส่งสัญญาณ Ku-band spot beams แบบสองทาง สามารถให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมไปยังพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนบริการ ตำแหน่งวงโคจร อยู่ที่ 119.5 องศาตะวันออก.