จากกรณีที่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กำลังสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 และ ดาวเทียมไทยคม 6 ในวันที่ 10 ก.ย. นี้ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ได้มอบหมายสิทธิบริหารจัดการให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ทำหน้าที่บริหารจัดการ
ช่วงรอยต่อผ่องถ่ายสัมปทานมีคำถาม? ตามมาว่าจะเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคกับสัญญาณทีวีหรือไม่นั้น ล่าสุด นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ออกมาเปิดเผยชัดเจนหลังจากถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล กรณีการเปลี่ยนผ่านสัมปทานครั้งประวัติศาสตร์ ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ และ ไม่ได้มีการผูกขาดเหมือนที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม
10 ก.ย.สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
ส่งคืนดาวเทียมไทยคม 4 ,ไทยคม 6
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า วันที่ 10 กันยายนนี้ สัมปทานดาวเทียมไทยคมดวงที่ 4 และ ดวงที่ 6 บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดสัมปทานให้บริการเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยกระบวนการโอนทรัพย์สินเริ่มวันแรก 11 ก.ย.นี้ โดย ไทยคม จะส่งคืนดาวเทียมทั้งสองดวงมาให้ ส่วนเทเลพอร์ตเซอร์วิส หรือ เกตเวย์ และ สถานีภาคพื้นดิน เป็นสิทธิของไทยคม
NT จำเป็นต้องเช่าใช้สถานีภาคพื้นดินไทยคม
นายชัยวุฒิ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สัญญาณภาคพื้นดิน ที่เป็นทรัพย์สินของไทยคม ดังนั้นการทำธุรกิจดาวเทียม จำเป็นต้องใช้สถานีฐานอัพลิงค์ และ ดาวน์ลิงค์ เพื่อรับส่งสัญญาณ ซึ่งบางส่วน NT ให้บริการเองและบางส่วนต้องเช่าใช้จาก ไทยคม เพราะเป็นผู้ให้บริการสถานีแม่ข่าย Gateway Service ทั้งในและต่างประเทศ
“เราไม่ได้ยกสิทธิสัมปทานให้ต่อ เพราะ NT ยังไม่มีความพร้อมถ้าสัญญาณไม่พอไปเช่าไปใช้บริการของ ไทยคม เพื่อให้สัญญาณบริการกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง”
ลั่น! ทีวีจอไม่ดำ
ปัจจุบันไทยคม 4 มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 80% ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ใช้งานจากต่างประเทศ ขณะที่ NT เป็นบริษัทตั้งใหม่ ไม่มีตัวแทนหรือพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ จึงได้แต่งตั้งไทยคม เป็นตัวแทนทำตลาดต่างประเทศ ส่วนอีก 20% เป็นลูกค้าในประเทศ NT สามารถบริหารกับลูกค้าในส่วนนี้ได้จึงให้รับผิดชอบการบริการ ส่วนไทยคม 6 ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดแคส มีลูกค้าเอกชนและภาครัฐประมาณ 60% มอบหมายให้ NT ไปบริหารการขายโดยตรงกับลูกค้า ส่วนอีก 34% เป็นลูกค้าต่างประเทศ มอบหมายให้ ไทยคม เป็นตัวแทน หรือพาร์ทเนอร์ดูแลลูกค้าต่างประเทศ
“การทำธุรกิจดาวเทียมของ NT ไม่มีการเอื้อประโยชน์ ไทยคม ไม่ได้เป็นสัมปทานผูกขาดตัดตอนต่อเนื่องจากฝ่ายค้านกล่าว ไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร ผู้ใช้บริการทุกคนต้องใช้งานต่อเนื่อง ไม่มีทีวีจอดำ อะไรจำเป็นต้องร่วมมือก็ต้องร่วมมือ อะไรทำเองได้ก็ทำเองให้ได้มากที่สุด และ ที่สำคัญคุ้มครองผู้บริโภคประชาชนไม่เสียค่าบริการที่แพง” นายชัยวุฒิ กล่าว
ดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมประเภท High Throughput หรือ HTS ดวงแรกของโลก ประจำอยู่ที่วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ให้บริการเพื่อภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคโทรคมนาคม นำเสนอบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านดาวเทียมที่คุ้มค่าสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ดาวเทียมดวงนี้ประกอบด้วยระบบการส่งสัญญาณ Ku-band spot beams แบบสองทาง สามารถให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมไปยังพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนบริการ ตำแหน่งวงโคจร อยู่ที่ 119.5 องศาตะวันออก
ดาวเทียมไทยคม 6 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ตำแหน่งยอดนิยม 78.5 องศาตะวันออก ตำแหน่งเดียวกับดาวเทียมไทยคม 8 ให้บริการด้วยระบบซีแบนด์และเคยูแบนด์กำลังสูง เพื่อรองรับบริการด้านบรอดคาสต์และดาต้า เช่น บริการ DTH บริการส่งช่องรายการผ่านดาวเทียม ตลอดจนบริการโครงข่ายผ่านดาวเทียมและบริการ IP Trunking มีพื้นที่บริการครอบคลุมพื้นที่ Sub-Saharan ในภูมิภาคแอฟริกาและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับ ผลโหวตลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวานนี้ (4 ก.ย.) นายชัยวุฒิ ได้คะแนนไว้วางใจ 267 คน,ไม่ไว้วางใจ 202 ,งดออกเสียง 9 ไม่ลงคะแนน 0.