แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีดีลควบรวมกิจการ ทรูและดีแทคว่า ล่าสุด นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ออกโรงยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช.และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กทค.)
โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นช่าวตั้งแต่เดือนพ.ย.64 เป็นต้นมาว่า กลุ่มบริษัททรูในเครือซีพี.จะดำเนินการควบรวมกิจการกับบริษัทดีแทคในกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งปรากฏว่า มีนักวิชาการ นักคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้แสดงความกังวลถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่จะถูกลิดรอน อันเป็นผลจากดีลควบรวมกิจการ ทรูและดีแทค เนื่องจากตามข้อมูลของ กสทช.ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 141 ล้านเลขหมาย ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ (ไอไอเอส ทรู และดีแทค) 132 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงถึงร้อยละ 93 และทั้ง 3 รายล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดทั้งสิ้น
เมื่อมีแล้วดีลควบรวมกิจการ ทรูและดีแทคจะเป็นรายที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 57 ซึ่งถือว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดอย่างยิ่ง ที่สำคัญกว่านั้น การควบรวมนี้จะทำให้กลุ่มบริษัทใหม่หลังการควบรวม จะกลายเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่จำนวนมากที่สุดรายหนึ่งของประเทศคือ 1,260 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย “มาตรา 60 ซึ่ง กสทช.ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือ สร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป
ดีลควบรวมกิจการ ทรูและดีแทค เป็นการจำกัดลิดรอนสิทธิของผู้บริโภค จึงถูกบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 “มาตรา 27 (11) กำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผู้ขาดหรือก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน...” “มาตรา 27 (13) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่...”
และ “มาตรา 31 ...ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการฯ มิให้มีการดำเนินการใด ๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ...”ซึ่ง กสทช.ได้ออกประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2559 โดยเฉพาะในข้อ8 ...การเข้าซื้อหุ้นเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นจะกระทำมิได้ เว้นแต่ กสทช.จะอนุญาตและหากการดำเนินการนั้นส่งผลให้เกิดการผูกขาดหรือลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กสทช.อาจจะสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะ...”
นอกจากนั้น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 บัญญัติให้ กสทช.ต้องกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาด ทำให้กลุ่มทรูและกลุ่มดีแทค ต้องรายงานรายละเอียดการควบรวมกิจการต่อเลขาธิการ กสทช. ก่อนการดำเนินการใด ๆ โดยต้องมีรายละเอียดเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ข้อ 5-11 ทั้งนี้ เลขาธิการ กสทช. ต้องเสนอรายงานดังกล่าวให้ กสทช. พิจารณาภายใน 60 วัน เพื่อให้กำหนดเงื่อนไขป้องกันความเสียหายในทันทีให้เป็นไปตามมาตรา 22 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยมีมาตรการป้องกันการผูกขาดหรือการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมให้เป็นไปตามประกาศข้างต้น
อีกทั้ง กลุ่มทรูและกลุ่มดีแทค ประกอบธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือไปจากกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. จึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 “มาตรา 51 ...แจ้งผลการควบรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าภายใน 7 วัน เว้นแต่การควบรวมจะทำให้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อนการดำเนินการ...” โดยมีรายละเอียดตามประกาศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะในข้อ 10 แต่กลับปรากฏว่าคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้ปฏิเสธการดำเนินการ และอ้างว่าไม่ใช่อำนาจของตน แต่เป็นอำนาจของ กสทช. แต่เพียงผู้เดียว เพราะเป็นข้อยกเว้นในมาตรา 4 (4) ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงของกฎหมายตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสองกลุ่มบริษัทล้วนประกอบธุรกิจอย่างหลากหลายนอกเหนือจากโทรคมนาคม
ด้วยเหตุนี้จึงขอให้นายกรัฐมนตรี กำกับให้หน่วยงานทั้งสองดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทุกฉบับโดยเคร่งครัด โดยไม่ให้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน และอาจถูกครหาว่าเป็นผู้มีอำนาจหนุนหลังนายทุนเอกชนที่มีกำลังทรัพย์เอาเปรียบประชาชน อันอาจทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ กับต่างประเทศอีกด้วย