ปรับร่าง กม. คุมแพลตฟอร์มดิจิทัล‘เอ็ตด้า’ชง ครม.กลางปีนี้

23 มี.ค. 2565 | 07:54 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 15:12 น.

ปรับกม.คุมแพลตฟอร์มดิจิทัล เปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... ล่าสุดเอ็ตด้าเปิดรับฟังความก่อนนำเสนอกฤษฎีกาพิจารณาวาระ 2 เดือนเม.ย.ก่อนนำเสนอครม.พิจารณา มิ.ย.-ก.ค.นี้

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผยว่าความคืบหน้าของ (ร่าง) พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... ขณะนี้ได้ผ่านการอนุมัติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเนื้อหาในหลักการของร่างกฎหมายแล้ว ก่อนส่งต่อมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายมาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

 

ซึ่งระหว่างการพิจารณาก็ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ทั้งรัฐ เอกชน รวมถึงองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เข้ามาร่วมให้ความเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทับซ้อนมีการประสานการทำงานร่วมกันและในการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่นี้จะต้องไม่เป็นข้อจำกัดของการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหรือผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย

ปรับร่าง กม. คุมแพลตฟอร์มดิจิทัล‘เอ็ตด้า’ชง ครม.กลางปีนี้

เพื่อให้เนื้อหาของการปรับปรุงร่างกฎหมายมีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมผลักดันกฎหมายดังกล่าว จึงได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้นำร่างที่ผ่านการพิจารณา วาระที่ 1 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยเอ็ตด้าจะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอต่อ (ร่าง) พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... ผ่านช่องทางระบบกฎหมายกลาง ที่ https://rb.gy/ateuk2 ตั้งแต่วันที่ 10-25 มีนาคม 2565 เวลา 17.00 น. จากนั้นจะทำการรวบรวมนำความเห็นที่ได้รับมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในวาระที่ 2 ก่อนดำเนินการเวียนร่างกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันร่างและเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในลำดับต่อไป

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาสาระสำคัญบางส่วน ทั้งการปรับแก้ไขเนื้อหาให้ความชัดเจนและเพิ่มเติมในบางประเด็น ทั้งในส่วน ของการปรับชื่อร่างกฎหมาย จาก“(ร่าง) พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ...” เปลี่ยนเป็น “(ร่าง) พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ...” ปรับปรุงคำนิยามของคำว่า “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ให้มีครอบคลุมยิ่งขึ้น

 

พร้อมเพิ่มเติมรายละเอียดลักษณะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2. นิติบุคคลมีราย ได้ในประเทศไทยเกิน 50 ล้าน บาทต่อปี และ 3. ผู้มีจำนวนคนใช้งานในไทยเฉลี่ยเกิน 5,000 รายต่อเดือน ดังนั้นผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์รายเล็กไม่เข้าข่ายจดแจ้งตาม พ.ร.ฎ.ฉบับนี้

 

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่ต่างประเทศที่มีลักษณะดังนี้ ได้แก่แสดงผลเป็นภาษาไทย จดทะเบียนชื่อโดเมน .th หรือ.ไทย กำหนดให้ชำระเงินเป็นเงินบาท ให้ใช้กฎหมายไทยแก่ธุรกรรม จ่ายค่าตอบแทนแก่เสิร์ช เอ็นจิน เพื่อช่วยให้ยูสเซอร์ในไทยเข้าถึงบริการจัดตั้งสำนักงาน หน่วย งาน หรือมีบุคลากรเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือยูสเซอร์ในไทย ต้องแจ้งสำนักงานก่อนประกอบธุรกิจและต้องมีการแต่งตั้งผู้ประสานงานในประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม หากเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่และที่มีลักษณะเฉพาะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และมีมาตรการบริหารจัดการความ เสี่ยงเสนอต่อสำนักงานทุกปีเพิ่มเติมด้วย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดผู้ที่จัดเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่นั้นต้องมีรายได้จากการให้บริการในไทยแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือรวมทุกประเภทบริการเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ใช้งานแอคทีฟต่อเดือนเกิน 7 ล้านคน หรือ 10% ของจำนวนประชากร

 

นอกจากนี้ยังยกเว้นการบังคับใช้กับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อลดความซํ้าซ้อนในการดูแล หรือ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่จดทะเบียนหรือส่งรายงานข้อมูล ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์อยู่แล้วไม่ต้องแจ้งข้อมูลโดยเอ็ตด้าจะทำการขอข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเอง

 

“กฎหมายดังกล่าวนั้นบังคับใช้อำนาจระดับตํ่าสุด กับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยให้มีการจดแจ้งข้อมูลพื้นฐานทางธุรกิจเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการ ทั้งนี้คาดหวังว่าต่อไปเราจะมีข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม เข้าใจการทำงานของแพลตฟอร์ม สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อให้เห็นความเสี่ยงการใช้งานของผู้ใช้ ซึ่งจะสามารถเข้าใจธุรกิจและดูแล ผู้ใช้งานได้ดีขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหา หรือจัดการปัญหาการฉ้อโกงทางออนไลน์ได้มากขึ้น”

 

นายชัยชนะ กล่าวต่อไปว่าคาดการณ์ว่าจะสามารถนำข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเสนอเกี่ยวกับ (ร่าง) พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ...”กลับไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาวาระรอบ 2 ได้ประมาณต้นเดือนเมษายนนี้ หากไม่มีความเห็นเพิ่มเติมก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาซึ่งคาดว่าจะอยู่ราวเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมนี้