ดร.ชลิดา ธนินกุลภรณ์ หัวหน้าส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่กระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมานำไปสู่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่ามีการปรับเปลี่ยนไปใช้ อีคอมเมิร์ซมากขึ้นและเร็วขึ้น ส่งผลให้มูลค่าอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดและเชื่อมั่นว่าความต้องการซื้อสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ของผู้บริโภคจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงมุ่งมั่นผลักดันและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัย ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ด้วยการสร้างโอกาสทางการค้าและเสริมด้านการตลาดออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ www.4localmall.com เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เกิดการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการสมาชิกให้สามารถแข่งขันในภาคธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ
‘4localmall’ จะเป็นอีมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) ที่สนับสนุนผู้ประกอบการสมาชิกให้สามารถเข้าถึงผู้ซื้อทั่วประเทศนับล้านคน ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลของส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ม.แม่ฟ้าหลวง จึงสามารสร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับให้กับผู้ซื้อและผู้ขายที่เข้ามาใช้บริการ โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคอยให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำสมาชิกผู้ใช้บริการ www.4localmall.com จะดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
สำหรับด้านออนไลน์นั้นมีการพัฒนารูปแบบการบริการบนหน้าเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Commerce) อย่างต่อเนื่อง และสมาชิกผู้ขายยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ด้านส่วนลดค่าขนส่งสินค้า รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ควบคู่กับการดำเนินกิจรรมสร้างโอกาสทางการค้าและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสมาชิกในรูปแบบออฟไลน์ อาทิ เช่น สมาชิกได้รับสิทธิ์เข้าร่วมออกบูธหรืองานแสดงสินค้า ได้รับสิทธิ์เข้าอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการค้า ได้รับสิทธิ์เข้ารับคำปรึกษาธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ ที่จัดขึ้นโดยส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ม.แม่ฟ้าหลวง
"4localmall"จะเป็นเว็บไซต์ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แหล่งรวมสินค้าของดีมีคุณภาพและมีอัตลักษณ์รวมกว่า 1,000 รายการ จากร้านค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม งานออกแบบ การบริการด้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อาทิ จากจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน รวมทั้งอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในขณะนี้ โดยมีการออกแบบที่ใช้งานง่าย สบายตา มีใช้ภาพสินค้าจริงประกอบกับกราฟฟิกต่าง ๆ ในการสื่อความเป็นเอกลักษณ์ แฝงความเป็นธรรมชาติของท้องถิ่น ผสมผสานกับสื่อออนไลน์ยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนได้ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการสุขภาพจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เพื่อสร้างและพัฒนาเป็นระบบบริหารจัดการเชิงธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว คือหนึ่งในภารกิจที่มากกว่าการจัดเรียนการสอนของม.แม่ฟ้าหลวง ภายใต้วัตถุประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์ด้านการต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสูงด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรม โครงการพัฒนาเว็บไซต์ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ชื่อว่า ‘4localmall’ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นของปีนี้
“เว็บไซต์ ‘4localmall’ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนเป็นต้นไป โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตั้งเป้ามียอดผู้เข้าใช้บริการและเข้าชมเว็บไซต์ ไม่น้อยกว่า 100,000 ครั้ง ภายใน 1 ปีแรก นอกจากนี้จะเร่งพัฒนาเว็บไซต์ต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ผู้ขายเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อทั่วประเทศได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในระยะเวลา 2 ปี เว็บไซต์ ‘4localmall’ จะก้าวขึ้นเป็น อีมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) ระดับแนวหน้าของจังหวัดและระดับภูมิภาคได้อย่างแน่นอน”