เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย กับ 4 ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าคนไทยทำ ดัดแปลงจากรถเมล์ ขสมก. ที่ใช้แล้ว 20 ปี ภายหลังวิ่งบนเส้นทางให้บริการจริงของ ขสมก. นานกว่า 3 เดือน ทีมวิจัย สวทช. และภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย พร้อมส่งมอบต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า ‘EV BUS’ ทั้ง 4 คัน ให้กับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ขสมก. กฟผ. กฟน. และ กฟภ.
นำไปทดลองขับใช้งานเต็มประสิทธิภาพ เพื่อการออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการและภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ เผยทั้ง 4 รุ่น ใช้วัสดุในประเทศช่วยประหยัดต้นทุนรถบัสนำเข้า 30 % หรือลดต้นทุนได้ 7 ล้านบาทต่อคัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดแถลงข่าว “เปิดตัวและส่งมอบผลงานโครงการการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าภายใต้โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. (City transit E-buses)” หรือ EV BUS ครั้งแรกในไทย จำนวน 4 คัน
โดยมี ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รศ. ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะกรรมการพิจารณาและติดตามโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา โครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วฯ ร่วมแถลงข่าว พร้อมส่งมอบต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าให้แก่ 4 หน่วยงานประกอบด้วย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธาน กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีและน่าชื่นชม ที่โครงการฯ ดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการออกแบบ พัฒนา และผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการผลิต พลังงาน สิ่งแวดล้อม และกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ทำให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จกระทั่งได้เปิดตัวและส่งมอบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่เป็นตัวอย่างของการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นรูปแบบหนึ่งตัวอย่างสำคัญในการผลักดันงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อผลักดันให้งานวิจัยและพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมระบบคมนาคมไทย ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ปียานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากประโยชน์ในการลดต้นทุนด้านพลังงาน และที่สำคัญที่สุดคือการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าลงทุนและน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าระดับอุตสาหกรรม จึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือ (Consortium) ภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ประกอบไปด้วยสมาชิกจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร กรมการขนส่งทางบก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บริษัทเอกชนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ทั้งนี้ สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา โครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ระหว่าง สวทช. กฟผ. กฟภ. กฟน. และ ขสมก.
ซึ่งภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวใช้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้ดี มีมาตรฐานและต้นทุนต่ำ ซึ่งต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่น ถูกพัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ถูกแจ้งปลดระวางไปแล้ว นำมาปรับปรุงและพัฒนาเป็นรถโดยสารไฟฟ้า ให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ลดต้นทุนการนำเข้าหรือผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใหม่ ด้วยมูลค่าสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนจากในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 และมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตและนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้าได้มีคุณภาพภายใต้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเชิงวิศวกรรมจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยของ สวทช.และพันธมิตร
“สวทช. โดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมให้คำปรึกษา และแก้ปัญหาการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้า พัฒนาต้นแบบสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารไฟฟ้าต้นทุนต่ำ ออกแบบวิธีการประเมิน วิเคราะห์คุณลักษณะ ทดสอบประสิทธิภาพ สมรรถนะ รวมถึงพัฒนาสนามทดสอบน้ำท่วมขังร่วมกับ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี และรับการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และได้ประเมินประสิทธิภาพการให้บริการ ความเหมาะสมผ่านการทดลองให้บริการบนเส้นทางให้บริการจริงของ ขสมก. เป็นระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก.”
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้มีภาคเอกชนร่วมพัฒนารถโดยสารใช้แล้วของ ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้า ก่อนส่งมอบให้กับหน่วยงานผู้สนับสนุน กฟน. กฟภ. กฟผ. และ ขสมก. นำไปใช้งานจริง ประกอบด้วย1. บริษัท โชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (CNC EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตัวถังจากวัสดุน้ำหนักเบา ด้วยตัวถังอลูมิเนียม ลดน้ำหนักตัวถังเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ เพื่อส่งมอบให้กับ กฟน. 2. บริษัท พานทอง กลการ จำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (PTM EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 60% โดยมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไออนภายในประเทศเพื่อส่งมอบให้กับ กฟผ. 3. บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (EVT EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% มีจุดเด่นที่ใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศโดยตรง ทำให้มีความเชื่อมั่นในการใช้งานและรับประกัน เพื่อส่งมอบให้กับ กฟภ. และ 4. บริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด พัฒนา รถโดยสารไฟฟ้า (SMT EV BUS) ที่มีจุดเด่นในความเชี่ยวชาญด้านวิศกรรมการออกแบบระบบขับเคลื่อน จากประสบการณ์พัฒนารถโดยสารไฟฟ้าและทดสอบใช้งานบนสภาวะการขับขี่จริง บนระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตร เพื่อส่งมอบให้กับ ขสมก.
โดยทั้ง ขสมก. กฟผ. กฟน.และ กฟภ. ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาจะนำรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่นไปทดลองขับใช้งานเต็มประสิทธิภาพ เพื่อการออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ ที่สำคัญทำงานร่วมกับของหน่วยงานต่างๆ แบบจตุภาคี ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำตามแนวนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใช้เองในประเทศ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับคนไทย
ทั้งนี้ภายในงานแถลงข่าวคณะผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ได้ชมและนั่งทดสอบรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่น ระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งประสิทธิภาพและสมรรถนะของรถโดยสารไฟฟ้า สามารถวิ่งทดสอบได้อย่างราบรื่น ไม่ก่อมลพิษทั้งทางเสียง และทางอากาศ ภายในกว้างขวางมีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยต่อผู้โดยสารตามมาตรฐานสากล