นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด หรือ Dietz.asia สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) สำหรับ สถานพยาบาล และองค์กร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโควิด เป็นตัวเร่งให้โรงพยาบาลปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล จากเดิมอาจใช้เวลาเปลี่ยนแปลง 10 ปี เหลือแค่ 2 ปี โดยจะเห็นได้ว่ามีการแก้กฎหมายเพื่อรองรับการให้บริการแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน หรือ มีการเชื่อมต่อบริการขนส่งยา
ขณะที่โรงพยาบาล มีการนำเทคโนโลยีแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน มาใช้ให้บริการผู้ป่วย Home Isolation มากขึ้น มีการบันทึกข้อมูลเป็นดิจิทัลมากขึ้น มีการเชื่อมโยงระบบสั่งจ่ายยา และระบบขนส่งยา รวมไปถึงระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ใช้บริการทางการแพทย์ มีความเข้าใจ และคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น
ซึ่งมองว่าภายหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ป่วยโควิดลดลง แต่ความต้องการบริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน ไม่ได้ลดลง เป็นโอกาสของเฮลท์เทค สตาร์ทอัพ ในการนำเสนอเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงพยาบาล ลดกระบวนการทำงาน ตลอดจนเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้บริการ ประกอบกับการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทำให้โรงพยาบาล ที่เดิมใช้ช่องทางไลน์ ในการให้บริการเทเลเมดิซีน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบเทเลเมดิซีน ที่เป็นมาตรฐาน รองรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“โรงพยาบาลกำลังมองหาระบบอัตโนมัติ การเชื่อมโยงระบบให้บริการแพทย์ทางไกลกับ ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล หรือ HIS (Hospital Information Systems) มีระบบออกใบเสร็จอัตโนมัติ เชื่อมโยงระบบร้านขายยา ระบบขนส่งยาให้ถึงบ้าน รวมถึงระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการนำร่องเชื่อมโยง API กับระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสิทธิ และส่งข้อมูลเบิกผ่านระบบ e-claim ของ สปสช.”
นายพงษ์ชัย กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดบริษัทยังได้พัฒนา เฮลท์ สเตชัน (Health Station) หรือแท่นตรวจสุขภาพผ่านทางออนไลน์ ให้กับพระสงฆ์ ใช้ตรวจสุขภาพ และขอรับบริการคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านทางออนไลน์ได้ทันที นอกจากนี้ยังได้เริ่มนำร่องให้บริการการแพทย์ทางไกลกับพื้นที่ห่างไกล โดยร่วมมือกับร้านยาในพื้นที่ห่างไกล ติดตั้งระบบ Health Pod เพื่อให้บริการทางการแพทย์ทางไกล กับคนในพื้นที่ห่างไกล หรือชายขอบ และสามารถพิมพ์ใบสั่งยา รับยาจากร้านขายยาได้ทันที
นอกจากนี้ยังได้เปิดให้บริการระบบติดตามสุขภาพต่อเนื่อง (NCDs Personal Health Records) กับบุคคลทั่วไป ทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไต หัวใจ จำเป็นต้องพบแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อติดตามภาวะสุขภาพ รับยา และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งจำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพตนเองที่บ้าน เพื่อปรับการรักษา โดยจากเดิมผู้ป่วยต้องจดข้อมูลลงกระดาษหรือสมุด แล้วนำสมุดนั้นไปให้แพทย์ ไดเอทซ์จึงพัฒนาระบบติดตามสุขภาพต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเทคโนโลยี IoT ช่วยผู้ป่วยเก็บข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ และช่วยทีมสหวิชาชีพ สามารถเห็นข้อมูลของผู้ป่วย และให้คำแนะนำในการดูแลผ่านระบบแชท หรือ วีดีโอคอลได้ เพื่อการดูแลติดตามอาการที่ดีขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบโรงพยาบาล (Hospital Information System)
นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรินแคร์ จำกัด สตาร์ทอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยา กล่าวว่า โควิด เป็นตัวเร่งให้ไทยเข้าสู่เทเลเฮลท์ ทั้งเทเลเมดิซีน และเทเลฟ่าร์มาซีน ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ที่ให้การยอมรับมากขึ้น ประชาชนที่เดิมมองว่าไม่สามารถ เข้าถึงเทคโนโลยี แต่ถูกสถานการณ์บังคับให้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี และภาคอุตสาหกรรมยาที่ตื่นตัวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้
โดยหลังจากโควิดคลี่คลายเทเลเฮลท์ยังเติบโตอีกต่อเนื่อง โดยโควิดไม่ได้หายไป แต่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งคนยังจำเป็นต้องใช้ยาในการดูแลรักษา ขณะที่ลองโควิด จะทำให้คนจะใส่ใจสุขภาพ มองหาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อุปกรณ์ทางการแพทย์ มาดูแลตัวเองมากขึ้น
อรินแคร์ยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเทเลเฮลท์ มุ่งพัฒนาให้ร้านยา สามารถให้บริการนอกร้านยาได้ และการมองหาพาร์ทเนอร์ เพื่อทำงานร่วมกันมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะร้านยา