27 พ.ย.2565 - BOT MAGAZINE โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย 5 เทคโนโลยี น่าจับตามองในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า โดยระบุว่า ขณะนี้ เทคโนโลยี ถูก พัฒนาแบบก้าวกระโดดและมีช่วงเวลาของการพัฒนาเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าลองถอยกลับไปดูเทคโนโลยีช่วงปี 2010 ยุคนั้นเพิ่งเริ่มเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี 3G ไปสู่ 4G และเป็นยุคเริ่มต้นของสงครามสมาร์ตโฟนที่เราเห็นกันจนชินตาในทุกวันนี้
แต่ช่วงปี 2020 โลกก็มี 5G ใช้กันแล้ว ซึ่งเร็วกว่า 4G ถึง 100 เท่า เสริมให้ Internet of Things ยิ่งแพร่หลายและแข็งแกร่งมากขึ้น artificial intelligence ถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจและชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น เทคโนโลยี AR และ VR[1] ถูกนำมาใช้สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้แก่ลูกค้า แน่นอนว่าโลกในอนาคตจะยิ่งล้ำหน้ามากกว่านี้ ผ่าน 5 เทคโนโลยีพลิกชีวิตที่น่าจับตามองในปี 2030 ดังต่อไปนี้
ปลูกถ่ายสมองกู้ความจำและเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์
ในอนาคตการปลูกถ่ายสมองจะเป็นมากกว่าการรักษา เว็บไซต์ Future Business Tech คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2030 มนุษย์จะสามารถปลูกถ่ายสมองเทียมโดยการทำสำเนาสมองส่วนเล็ก ๆ เพื่อรักษาส่วนที่เสียหายจากอาการอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง หรือการบาดเจ็บอื่น ๆ รวมถึงช่วยกู้ความจำที่หายไปได้ด้วย นั่นเป็นเพราะสมองเทียมนี้จะเลียนแบบการทำงานของคลื่นเคมีไฟฟ้าในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus)
ที่มา : ธปท.
ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยทำให้ความจำระยะสั้นกลายเป็นความจำระยะยาว เมื่อเครื่องมือนี้เข้าไปแทนที่สมองส่วนที่เสียหาย มันจะคาดการณ์ว่าสมองส่วนนั้นจะทำงานอะไร และจะส่งคลื่นสมองไปทดแทนส่วนที่เสียหาย คาดว่าช่วงปี 2030-2040 เทคโนโลยีนี้จะถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ และเลียนแบบการทำงานของสมองที่ซับซ้อนขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีด้านสมองที่ชื่อว่า Brain-Computer Interface (BCI)[2] ที่เชื่อมต่อคลื่นสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สมองที่ยังดีอยู่ของคนที่เป็นอัมพาตสามารถสั่งการไปยังแขนกลหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน หรือแม้แต่อาจจะควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น คิดให้คอมพิวเตอร์พิมพ์ออกมา ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่สนใจและลงทุนในเทคโนโลยีนี้ อย่างบริษัท Synchron ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งออกมาประกาศว่าสามารถปลูกถ่ายฝังชิป BCI ทางหลอดเลือดในสมองมนุษย์ได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก หลังจากเคยฝังชิปในผู้ป่วยอัมพาตขั้นรุนแรง เพื่อให้สามารถส่งสัญญาณจากสมองผ่านบลูทูท โดยในอนาคตจะมีการพัฒนา BCI ที่ปรับขนาดได้ออกสู่ตลาดด้วย
ขณะเดียวกัน บริษัท Neuralink ของอีลอน มัสก์ ที่พยายามผลักดันการปลูกถ่ายสมองโดยการฝังชิปให้เป็นมากกว่าแค่การรักษาโรค แต่เข้าสู่ขอบเขตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคด้วย โดยมุ่งหวังให้สามารถใช้บันทึกและเปิดย้อนหลังความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังสามารถอัปโหลดความทรงจำของตัวเองเพื่อสำรองข้อมูลเอาไว้ โดยนักวิจัยเชื่อว่าจะทำสำเร็จในปี 2030
อย่างไรก็ดี BCI ก็ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน เช่น ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ออกมาจากสมอง หรือความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างคนที่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้
ผลิตอวัยวะมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี 3D Bioprinting
อีก 10 ปีข้างหน้า หากมนุษย์สูญเสียอวัยวะหรือต้องการเปลี่ยนอวัยวะก็ไม่จำเป็นต้องรอรับบริจาคอวัยวะอีกต่อไป เทคโนโลยี 3D bioprinting จะสร้างอวัยวะใหม่ให้ได้ตามต้องการเหมือนในหนังไซไฟที่เราเคยดู เทคโนโลยีนี้เป็นการรวมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเข้ากับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่สามารถขึ้นรูปร่างที่ซับซ้อนด้วยหมึกชีวภาพ (bioink) ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ผสมกับเซลล์และเนื้อเยื่อที่มีชีวิต โดยช่วงแรก เริ่มจากการขึ้นรูปเนื้อเยื่อและหลอดเลือดก่อนแล้วพัฒนาเป็นอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ และหัวใจ ล่าสุดนักวิจัยได้ทดลองใส่อวัยวะเทียมจาก bioink ในหนูได้แล้ว และจะเริ่มทดลองกับมนุษย์ต่อไป
เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้านี้จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอวัยวะที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต โดยข้อมูลจาก Health Resources and Services Administration (HRSA) ของสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2020 มีผู้ได้รับบริจาคอวัยวะเพื่อปลูกถ่ายเพียง 39,000 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรออวัยวะถึง 17 คนต่อวัน ทำให้ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ยังมีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่กว่า 107,000 คน เชื่อว่าหลังจากปี 2030 เทคโนโลยีนี้จะสามารถสร้างอวัยวะสำคัญของมนุษย์ได้ถึง 78 ชิ้นส่วนทีเดียว
นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ลดความสูญเสียและอัตราการตายแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดระยะเวลาการรักษา ค่าใช้จ่าย การนำเข้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
Internet of Senses เปลี่ยนโลกการรับรู้ของมนุษย์ไปอย่างไร้ขีดจำกัด
ในอนาคต โลกเสมือนจริงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การมองเห็นและได้ยินเสียงอีกต่อไป แต่จะรวมถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่จะถูกถ่ายทอดผ่านระบบดิจิทัลเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์เสมือนจริงอย่างเต็มรูปแบบ
อินเทอร์เน็ตของประสาทสัมผัส หรือ Internet of Senses เป็นแนวคิดที่ทางสถาบันวิจัยระดับโลกของอีริคสัน (ผู้นำเทคโนโลยีการสื่อสาร) ปลุกกระแสขึ้น โดยเล็งเห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เครือข่ายสื่อสารความเร็วสูง (5G/6G) จะช่วยรองรับและทำให้ Internet of Senses เกิดขึ้นได้จริงในปี 2025 โดยอาจต้องเริ่มจากการพัฒนาอุปกรณ์ AR และอุปกรณ์ haptic ที่สามารถสร้างประสบการณ์การสัมผัสโดยใช้แรง การสั่น หรือการเคลื่อนไหวให้กับผู้ใช้ หรือเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี XR[3] ให้เกิดขึ้นก่อน และคาดว่าจะสามารถต่อยอด Internet of Senses ให้กลายเป็นระบบการสื่อสารโดยตรงจากความคิด (Thought Communication) ได้ในปี 2030
จากรายงาน 10 Hot Consumer Trends 2030 ของอีริคสัน ที่เป็นการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยี AR และ VR เป็นกิจวัตรกว่า 7,600 คนในเมืองใหญ่ทั่วโลกพบว่า พวกเขาคาดหวังให้มีการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสรูปแบบผ่านระบบดิจิทัลออนไลน์ภายในปี 2030 อาทิ
หากสำเร็จ เทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์ด้านการเรียนการสอน การจัดงาน การแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว ธุรกิจ การตลาด การชอปปิง นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงจากการลงมือจริง ลดการเดินทาง ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้พลังงานได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้ยังมีประเด็นในด้านความปลอดภัยของข้อมูล และการปกป้องความเป็นส่วนตัวที่ต้องพัฒนาต่อไป
Nanotechnology ความจิ๋วที่เปลี่ยนชีวิต
นาโนเทคโนโลยีเป็นการประยุกต์สร้างวัสดุหรืออุปกรณ์ในระดับอะตอม โมเลกุล หรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กในช่วง 1 ถึง 100 นาโนเมตร เพื่อให้มีคุณสมบัติพิเศษขึ้นทั้งทางด้านกายภาพเคมีและชีวภาพ ในปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์กันแดด เสื้อผ้า อาหาร สมาร์ตโฟน ไปจนถึงยา แต่ในอนาคต นาโนเทคโนโลยีจะพลิกชีวิตมนุษย์ไปอีกขั้นในหลายรูปแบบ
ในทางการแพทย์ จะมีนาโนโรบอตที่ถูกฉีดเข้าไปในระบบเลือดเพื่อค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็ง โดยส่งยาในระดับไมโครไปยังจุดที่ต้องการรักษาได้อย่างแม่นยำ ป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดกับอวัยวะรอบข้างได้ นักวิทยาศาสตร์มองว่านาโนโรบอตสามารถลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือปัญหาเกี่ยวกับการกินอาหาร รวมถึงคอยจับตาดูอาการผิดปกติต่าง ๆ และส่งข้อมูลไปยังระบบ cloud เพื่อให้แพทย์ติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิดแบบ customize โดยไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล
เรย์ เคิร์ซวิล (Ray Kurzweil) นักประดิษฐ์และนักเขียนชาวอเมริกันคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2030 มนุษย์จะสามารถฝังอุปกรณ์ระดับนาโน(nanomachines) เข้าไปในสมอง เพื่อเพิ่มความสามารถทางสติปัญญา ประสาทสัมผัสและความจำ มนุษย์จะสื่อสารเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายแบบไร้สาย การอัปเกรดนี้เองจะเปลี่ยนบุคลิกภาพและหน่วยความจำมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อกังวลอยู่ว่าอุปกรณ์นาโนเหล่านี้อาจเป็นพิษเมื่อเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงต้องศึกษาให้ดีก่อนนำมาใช้จริงในอนาคต
จัดการไฟฟ้าอย่างชาญฉลาดด้วย Smart Grid Technology smart grid technology เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่จะช่วยบริหารจัดการไฟฟ้าได้อย่างชาญฉลาด โดยออกแบบให้มีการไหลของกระแสไฟฟ้าแบบสองทิศทางและประยุกต์เทคโนโลยีหลายประเภท เช่น ระบบควบคุมแบบอัตโนมัติ ระบบสื่อสารสารสนเทศ ระบบเก็บข้อมูล รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มาใช้งานร่วมกัน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ความฉลาดของระบบนี้คือจะประเมินศักยภาพของแหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานจากฟอสซิล รวมทั้งสั่งการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อดีของ smart grid คือระบบไฟฟ้าจะเสถียรขึ้น ลดปัญหาการเกิดไฟฟ้าดับและปริมาณไฟฟ้าที่สูญเสียจากการส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ความเสถียรนี้จะรองรับอุปกรณ์ smart appliances และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งยังทำให้เกิดสังคมสีเขียวที่มีคาร์บอนต่ำด้วย หลายประเทศทั่วโลกจึงหันมาสนใจพัฒนาระบบนี้มากขึ้น ในปี 2030 คาดว่าจะมีการขยายสเกล smart grid ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเชื่อมกริดทั้งประเทศเข้าด้วยกัน และจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศกำลังพัฒนาด้วย
" หากเทคโนโลยีพลิกชีวิตทั้ง 5 นี้เกิดขึ้นจริงและแพร่หลายในอนาคต จะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพ ลดต้นทุน ความเสี่ยง และการสูญเสียทั้งในแง่ของบุคคล ธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เป็นสังคมสีเขียวจากการลดการใช้พลังงาน นำไปสู่สังคมที่ยั่งยืนได้ในที่สุด"
.