หัวเว่ย ปั้นบุคลากรหญิงด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้

20 ธ.ค. 2565 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2565 | 10:47 น.

หัวเว่ย แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถทางดิจิทัล ผนึก สกมช. สร้างบุคลากรไอซีทีหญิงด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้

รายงานข่าวจาก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จากปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไอซีทีเพศหญิง ทางหัวเว่ย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ด้านโทรคมนาคม (TTC-CERT) และบริษัท สยามถนัดแฮก จัดการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับสตรี (Women : Thailand Cyber Top Talent 2022) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และผลักดันกลุ่มบุคลากรไอซีทีเพศหญิงในประเทศไทย ตอบโจทย์ความต้องการทรัพยากรบุคคลสำหรับงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้

 

พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า โครงการการแข่งขัน Women: Thailand Cyber Top Talent 2022 เป็นการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับผู้หญิง จัดขึ้นปีนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 132 ทีม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนและบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้หญิงหรือมีเพศสภาพเป็นหญิง ได้เรียนรู้ เพิ่มทักษะ และพัฒนาประสบการณ์ เพื่อให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ประเทศไทย เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรไซเบอร์ในระดับองค์กร ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิและแสดงออกถึงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่

สกมช. มีแผนจะผลักดันการสร้างบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในประเทศ ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องด้วยไทยยังมีความท้าทายจากการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถทางดิจิทัลอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรที่เป็นผู้หญิงหรือมีเพศสภาพหญิง

 

จากสถิติของโลกจะมีผู้หญิงเข้ามาทำงานสายไซเบอร์ซีเคียวริตี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ขณะที่ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 3% เท่านั้น ดังนั้น โครงการการแข่งขัน Woman: Thailand Cyber Top Talent 2022 จึงถือเป็นการส่งเสริมเรื่องความทัดเทียมทางเพศ ให้เข้ามาทำงานในด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้มากขึ้น 

 

 

นางสาว แอ็กเนส เซี่ย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หัวเว่ย กล่าวว่า ผู้หญิงมีความสำคัญ และสามารถเป็นผู้นำได้ไม่ต่างจากเพศชาย หัวเว่ยจะสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรี การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านสังคมให้แก่สตรีและองค์กรสตรี ตามพันธกิจของหัวเว่ยในด้านการ “เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคอัจฉริยะที่ทุกคนมีบทบาทและเชื่อมถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ

 

สำหรับ โครงการการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับ ผู้หญิง (Women : Thailand Cyber Top Talent 2022) ได้เริ่มต้นรอบคัดเลือก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ผ่านระบบออนไลน์ โดยแบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็น 2 ระดับ ได้แก่ นักเรียน จำนวน 83 ทีม และประชาชนทั่วไป จำนวน 49 ทีม เป็นการแข่งแบบ Capture the Flag ในรูปแบบ Jeopardy (ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกโจทย์ในหัวข้อใดทำก่อนก็ได้ คะแนนของโจทย์แต่ละหัวข้อจะไม่เท่ากัน) โดยรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นในอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ Novotel Bangkok on Siam Square มีทีมเข้าแข่งขันจำนวน 30 ทีม ชิงเงินรางวัลรวมเป็นมูลค่ากว่า 200,000 บาท