2 ใน 5 งานหลัก ETDA ปี 2565 คือ กำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างเข้มข้น ตามรอยญี่ปุ่น-ยุโรป และส่งเสริมให้เกิดระบบดิจิทัลไอดี (Digital ID
Ecosystem) หรือการยืนยันตัวตนด้วยภาพถ่ายดิจิทัล จะออกดอกออกผลให้เห็นปี 2566 นี้
จากที่ร้องกันอื้อ ซื้อของออนไลน์ “ไม่ตรงปก” ETDA ซุ่มเก็บข้อมูลทุกฝ่ายครบ ยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... แล้ว รอประกาศใช้เป็นกลไกกำกับดูแลให้เกิดธรรมาภิบาล
ส่วนเรื่องการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์นั้น หลังวางมาตรฐานให้การปลอมไอดีทำได้ยาก จนมั่นใจว่าผู้มาทำธุรกรรมนั้นไม่ใช่ตัวปลอม ใช้รูปถ่ายบัตรประชาชนที่อยู่ในฐานข้อมูลกรมการปกครอง ยืนยันตัวตนเพื่อทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์
ต่อไปเปิดบัญชี ทำสัญญาเงินกู้ซื้อบ้าน ทำกันบนออนไลน์ ไม่ต้องไปถึงสาขาได้เลย
ชัยชนะ มิตรพันธ์ จบปริญญาตรี-โทด้านวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และไปและจบปริญญาเอก ที่ Universität Duisburg-
Essen, Essen, NRW, เยอรมนี
ทำงานในแวดวงคอมพิวเตอร์ และความปลอดภัยไซเบอร์ ในศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ มาต่อเนื่อง เติบโตใน ETDA ถึงรองผอ. ก่อนสมัครและผ่านคัดเลือกเป็นผอ.
ถัดไปจะขยับจากเรื่องจัดระเบียบแพลตฟอร์ม สู่การวางมาตรฐาน AI โดยปี 2566 จะเริ่มเก็บข้อมูล ศึกษาแนวทางกำกับดูแล เช่น ยุโรปมีกฎหมายห้ามใช้ AI ติดตามประชาชน ส่วนบราซิลให้ใช้ได้แต่ต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด
ส่วนเป้า 5 ปี (2570) คือ 30:30
คือ เพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็น 30 % ของจีดีพีประเทศ และอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล (World Digital Competitiveness Ranking) ของไทยต้องอยู่ใน 30 อันดับแรก จากปัจจุบันอันดับที่ 40
เปลี่ยนผ่านสังคมไทยสู่ยุคดิจิทัล
ชัยชนะ มิตรพันธ์
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA
คอลัมน์ สปอตไลต์ หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,845 วันที่ 15-17 ธันวาคม พ.ศ.2565