เลื่อนส่งดาวเทียม THEOS-2 หลังพบการแจ้งเตือน "เรด สเตตัส" (มีคลิป)

07 ต.ค. 2566 | 02:36 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2566 | 12:58 น.

เลื่อนส่งดาวเทียมTHEOS-2 จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้ หลังพบการแจ้งเตือน "เรด สเตตัส" ก่อนการปล่อยจรวด 14 วินาทีสุดท้าย "GISTDA" แจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป (มีคลิป)

จากกรณีที่ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  มีกำหนดการในวันนี้  7 ตุลาคม 2566 ส่งดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส 2)  ขึ้นสู่สู่วงโคจร เวลา 08:36 น. ตามเวลาในประเทศไทย จากท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้

 

ล่าสุด GISTDA แจ้งว่า กรณีเลื่อนการนำส่งดาวเทียม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ความปลอดภัยต้องมาก่อน ทั้งนี้ รอติดตามความคืบหน้าจากทาง Airbus และ GISTDA จะประกาศกำหนดการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ให้ทราบต่อไป

 

เหตุผลที่เลื่อนส่งดาวเทียม THEOS-2 เนื่องจากพบการแจ้งเตือน "เรด สเตตัส" ก่อนการปล่อยจรวด 14 วินาทีสุดท้าย

ส่วน "Scrub" สำหรับวงการเทคโนโลยีอวกาศ มีความหมายมากกว่าแค่ “ระงับ” กำหนดการที่กำลังเกิดขึ้น แต่ความหมายและที่มาที่ไปจริง ๆ ลของมันคืออะไร เรามีคำอธิบายครับ

คำว่า Scrub ในวงการอากาศยานแปลว่า การระงับอย่างกะทันหัน แตกต่างกับคำว่า Delay ตรงที่การ Delay หรือเลื่อนกำหนดการออกไปก่อนมักใช้เวลาตัดสินใจล่วงหน้าเป็นหลักปี เดือน หรือวัน แต่การ Scrub มักเป็นการตัดสินใจที่กระชั้นชิดกับเวลาปล่อยตัว

ในวงการอากาศยานแล้ว การจะ Scrub การบินได้จำเป็นต้องมีเงื่อนไขตรงตามข้อกำหนดขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Aviation Administration (FAA) โดยแบ่งเป็นสองหมวดหลัก ๆ คือ ปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศ และปัญหาทางเทคนิค

ปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศนั้นเป็นได้ทั้งมีเมฆหนาเกินไป มีพายุฝนฟ้าคะนองหรือมีฟ้าฝ่าในรัศมี 10 ไมลส์ทะเลในช่วงเวลาภายใน 30 นาทีก่อนการปล่อยยาน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวยานหรือนักบินได้

ส่วนปัญหาทางเทคนิคนั้นนับรวมตั้งแต่การขัดข้องของอุปกรณ์ภาคพื้นดินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยยานไปจนถึงความเสียหายของชิ้นส่วนยานที่มีความเสี่ยงต่อการปล่อยตัวเช่นกัน

แต่ในการนำส่งเช้านี้ จะเป็นการส่งจากฐานปล่อยที่ French Guiana ที่เป็นมลรัฐหนึ่งของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ดังนั้น จะยึดข้อกำหนดของศูนย์แห่งชาติเพื่อการศึกษาอวกาศ (CNES) เป็นหลัก ซึ่งหากวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้รับ ณ ปัจจุบัน จะสามารถคาดการณ์ได้ว่าสาเหตุของการเลื่อนนำส่งในเช้าวันนี้ เกิดจากความไม่สมบูรณ์ทางเทคนิค โดยกำหนดการปล่อยยานอีกครั้งจะขึ้นอยู่กับระดับความไม่สมบูรณ์ที่ตรวจพบ ส่วนใหญ่มักกำหนดหลังจากทำการซ่อมแซมและทดสอบการทำงานของอุปกรณ์นั้น ๆ ก่อน

ถึงแม้การนำส่งจะต้องล่าช้าออกไป แต่ความปลอดภัยต้องมาก่อน เพราะทุกก้าวของวงการเทคโนโลยีอวกาศต้องระมัดระวังอยู่เสมอ 

สำหรับกำหนดการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นอย่างไร รวมถึงสาเหตุเชิงลึกของการเลื่อนนำส่ง ทางทีมงานจะรีบประสานรวบรวมความคืบหน้าและสรุปมาให้ท่านผู้อ่านโดยเร็ว รอติดตามกัน

สำหรับ ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite หนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ที่ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งมีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวันและข้อมูลจากดาวเทียมจะถูกใช้ในการปรับปรุง (Update) ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการจัดการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ล่าสุด นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยหลังจาก Arianespace แจ้งเลื่อนการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ก่อนนับถอยหลังเพียง 14 วินาที เนื่องจากระบบตรวจสอบได้พบค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (threshold) ที่อุปกรณ์ Safety Management Unit ของจรวดนำส่ง ระบบจึงตัดการทำงานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียดจาก Arianespace ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในช่วงเช้าวันที่ 8 ตุลาคม (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือ คืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย ส่วนกำหนดการส่งใหม่อีกครั้งจะเป็นวันและเวลาใด ทาง GISTDA จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ที่มา:GISTDA