นายทวีพงศ์ สุธรรมพันธุ์ นายกสมาคมโครนเพื่อการเกษตร (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตลาดโดรนการเกษตรในไทยมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยไทยมีพื้นที่เกษตร 60 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ใช้โดรนการเกษตรราว 20% โดยขณะนี้ประมาณการณ์ว่าตลาดโดรนการเกษตรไทยจะมีปริมาณทั้งหมด 20,000 เครื่อง ดังนั้นจึงมีโอกาสเติบโตของโดรนการเกษตรอีกมาก
อย่างไรก็ตามมองว่าภาครัฐ ควรเข้ามาส่งเสริมโดรนการเกษตรแบรนด์คนไทย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมของคนไทยให้แข็งแรง และลดการนำเข้าโดรนการเกษตรต่างประเทศ
ด้าน ดร. มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน่าที่บริหาร บริษัท ไฮกราวนด์ จำกัด สตาร์ทอัพผู้ออกแบบ และผลิตโดรนการเกษตรแบรนด์คนไทย ยี่ห้อ “ไทเกอร์โดรน” กล่าวว่า เกษตรกรไทยตื่นตัวในการนำโดรนการเกษตรมาใช้ โดยข้อมูลจาก DJI ระบุว่าตลาดไทยมีการใช้โดรนการเกษตรใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค ขณะที่ข้อมูลจาก กสทช. ระบุว่าการจัดซื้อโดรนมีจำนวนทั้งหมด 10,000 เครื่อง เติบโตขึ้น 100-200% คาดการณ์ว่าใน 5 ปีข้างหน้าตลาดโดรนการเกษตรจะมีขนาดตลาด 20,000-3,0000 เครื่อง
ที่ผ่านมาโดรนการเกษตรส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า มีโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) โดยให้การอุดหนุน 60% ของราคาโดรนการเกษตร ให้กับวิสาหกิจชุมชน จัดซื้อโดรนการเกษตรของคนไทย ที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการรับรองมาตรฐาน dSURE ของดีป้า โดยโครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมอุตสาหกรรมโดรนการเกษตรในประเทศ ซึ่งช่วยให้ลดการเสียดุลการค้าต่างประเทศ และช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศมีความแข็งแรงมากขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) และ ดีป้า ได้เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่มุ่งส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยดีป้าให้การอุดหนุนกับกลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ในการจัดซื้อโดรนการเกษตร ในอัตรา 60% ของราคาโดรนการเกษตร (ราคาไม่เกิน 2.5 แสนบาท) ส่วนอีก 40% หากวิสาหกิจชุมชน มีเงินไม่พอ หรือ ไม่มีเงิน สามารถขอกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. หรือหากสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด 4,000 ไร่ ดีป้าจะให้การอุดหนุนโดรนเพื่อการเกษตร 100% โดยคาดว่าจะผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน
นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรแก่ชุมชนและเกษตรกรทั่วประเทศ โดยคาดภายใน 1 ปีจะเปิดศูนย์อบรม และสอบใบอนุญาต ควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร 5 ศูนย์ทั่วประเทศ มีเกษตรกรที่มีทักษะควบคุมโดรนการเกษตร 1,000 คน และเปิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ 50 ศูนย์ สร้างอาชีพช่างซ่อมโดรนชุมชน 100 คน และคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท มีการใช้โดรนการเกษตรครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร 4 ล้านไร่
โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการโดรนการเกษตรในประเทศ ที่ได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมาตรฐาน dSURE จาก ดีป้า ที่ต้องผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย (Safety) ฟังก์ชัน และ ซิเคียวริตี้ ระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล ป้องกันการไหลออกข้อมูลไปต่างประเทศ เบื้องต้นมีผู้ประกอบการโดรนการเกษตรในประเทศเข้าร่วมโครงการ 5 ราย