นับถอยหลัง เหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนจะหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ (14พฤษภาคม 2566 )เหล่าพรรคการเมือง ต่าง ออกนโยบายกระชากคะแนนเสียงและ ที่อยู่ในความสนใจประชาชน คือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูก หนึ่งในนโยบาย ลดค่าครองชีพ ทางเลือกในการเดินทาง ที่4พรรคใหญ่ เลือกนำมาขายฝันเอาใจคนกรุง และพื้นที่ใกล้เคียง
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบนโยบาย ค่าโดยสาร รถไฟฟ้า เริ่มจากพรรคเพื่อไทย ปูพรมพัฒนาตั๋วร่วมทั้งระบบ ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทุกเส้นทางในเขกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้ก่อนปี 2570 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน โดยหลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังมีปัญหาคาราคาซัง
หากเป็นเช่นนี้ อาจย่ำรอยนโยบาย หาเสียงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่เคยหาเสียงไว้ อยู่ที่ 25-30 บาท แต่กลับไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาสัญญาสัมปทานกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ที่หมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ทั้งนี้ประเมินว่าหากทำได้ต้องอัดฉีดงบประมาณส่วนต่าง ชดเชยให้กับภาคเอกชนหรือภาครัฐ
เช่นเดียวกับพรรค ก้าวไกล พรรคคนรุ่นใหม่ เรียกคะแนนเสียงด้วยการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเชื่อมรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง ที่อัตรา 15-45 บาทต่อวัน โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงระบบราง ไม่ต่างกับพรรคภูมิใจไทย ที่ชูนโยบายหาเสียง ค่าโดยสารที่ 15-40 บาท ต่อวันสูงสุดไม่เกิน 40 บาทต่อวัน พ่วงด้วย ตั๋ว One Day Pass ค่าโดยสารสาธารณะ รถ เรือ เริ่มต้น 15 บาท ตลอดวันจ่ายไม่เกิน 50 บาท เพื่อช่วยสนับสนุนประชาชนลดค่าครองชีพและไม่เบียดบังรายได้ ของเอกชนและรัฐมากเกินไป
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ค่าตั๋ว 50 บาทตลอดวันแบบไม่อั้นเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวแก้ปัญหา PM 2.5 ขณะพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ไม่มีนโยบายหาเสียงเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า เพราะสนับสนุน ค่าโดยสารตามที่ ผู้ว่าฯกทม.คนก่อนเสนอไว้ แต่ในทางกลับกันได้เน้นความสำเร็จจากการลงทุนรถไฟฟ้าหลากสีได้สำเร็จและทยอยเปิดใช้เส้นทาง อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
สำหรับปัญหารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวนั้น นายชัชชาติ เคยระบุว่า ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการฟรีและยังไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าบริการ จากข้อมูลของทีมผู้บริหาร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อเสนอมาว่าควรจัดเก็บค่าบริการตลอดสายสูงสุดไม่เกิน 59 บาท ซึ่งการแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่แผนแก้ปัญหาระยะยาว แต่เป็นแผนระยะสั้น
ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาท ที่รับข้อเสนอมานั้น ที่ผ่านมา กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม โดยจะใช้สูตรการคำนวณ (14+2X) X คือ จำนวนสถานีที่นั่ง จะไม่ให้เกินค่าบริการสูงสุดเดิมที่ระบุไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
รายงานข่าวจากบีทีเอสซี สะท้อน ว่า ตามสัญญารถไฟฟ้ามีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ค่าโดยสารถูกลงหรือไม่นั้นคงต้องศึกษาข้อมูลจากในต่างประเทศที่มีการชดเชยรายได้ให้กับผู้รับสัมปทานด้วย
ปัจจุบันบีทีเอสซี ได้ฟ้องทวงหนี้กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ต่อศาลปกครองแล้ว จำนวน 2 คดี ประกอบด้วย 1.คดีค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว วงเงิน 12,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 2.คดีค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ประมาณ 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ทำให้ปัจจุบันบีทีเอสซีได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว วงเงินประมาณ 22,000 ล้านบาท
สำหรับมูลหนี้ที่ภาครัฐค้างจ่ายในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับบีทีเอสซี วงเงินรวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เงินต้นรวมดอกเบี้ย แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถ ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทและค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 2.28 หมื่นล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กรณีที่พรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้น ทางกระทรวงมองว่าเป็นนโยบายในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ถือเป็นนโยบายที่ดี หากมีนโยบายใดที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ ทางกระทรวงก็พร้อมรับกำหนดแนวทางที่เป็นไปได้ต่อไป
“หากในเชิงประชานิยมให้ความสนใจมาก ทางกระทรวงจะต้องหาแนวทางเพื่อหาแหล่งงบประมาณมาดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย”
ส่วนความเป็นไปได้ที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงกว่าในปัจจุบันนั้น มองว่าเมื่อลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการปรับลดค่าโดยสารด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาอีกว่ารายได้ที่หายไปในสัญญาสัมปทานจะดำเนินการกันอย่างไร ขณะนี้พบว่ามีรถไฟฟ้าที่อยู่ในสัญญาสัมปทาน จำนวน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย สายสีเขียว,สายสีน้ำเงิน, สายสีชมพู และสายสีเหลือง