เลือกตั้ง 2566 : เนชั่นวิเคราะห์ ผลเลือกตั้ง ส.ส. ภาคใต้ 14 จังหวัด ครั้งที่ 1

21 เม.ย. 2566 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2566 | 10:37 น.

เนชั่นวิเคราะห์ ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1 พื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เจาะลึกข้อมูลเขตเลือกตั้งรายจังหวัด ผู้สมัครช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส. 60 ตำแหน่ง เขตไหนใครนำ

ศึกเลือกตั้ง 66 นับถอยหลังเลือกตั้ง ส.ส. บรรดาพรรคการเมืองเเละผู้สมัครพากันหาเสียงกันอย่างดุเดือด “เนชั่นวิเคราะห์” สนามเลือกตั้ง เจาะลึกรายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ครั้งที่ 1 แต่ละพรรคส่งผู้สมัครช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส. ดังนี้

 

1. กระบี่ มี 3  เขตเลือกตั้ง

เดิมเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นขวัญใจคนใต้ ในอดีตส.ส.กระบี่ที่ผู้คนคุ้นชื่อ และรู้จักดี คือ นายอาคม เอ่งฉ้วน และ นายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล แต่การเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งมีแค่ 2 เขตเลือกตั้ง ตำแหน่ง ส.ส.ทั้ง 2 เขต ตกเป็นตระกูลเกี่ยวข้อง คือ นายสาคร เกี่ยวข้อง และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ทั้งคู่แม้จะนามสกุลเดียวกัน แต่อยู่กันคนละพรรค นายสาครอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนนายสฤษฏ์พงษ์ อยู่พรรคภูมิใจไทย

การเลือกตั้งปี 2566 แม้จะเพิ่มเป็น 3 เขตเลือกตั้ง แต่ยังคงเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรค คือ เจ้าของพื้นที่เดิมพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ผู้ท้าชิงที่เข้ามาเขย่าขวัญแชมป์ในการเลือกตั้งครั้งก่อน ส่วนผู้สมัครเพิ่มเป็น 3 เขต 4 ตระกูล คือ ตระกูลภูเก้าล้วน ,กิตติธรกุล ,เกี่ยวข้อง และพันธ์วิชาติกุล ส่วนตระกูลเอ่งฉ้วน ตระกูลการเมืองดั้งเดิม เริ่มค่อยๆ หายออกจากระบบการเมืองระดับชาติ หลังนายอาคม เอ่งฉ้วนเสียชีวิต เมื่อปี 2563

 

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายกิตติ พรรคภูมิใจไทยนำ นายธนวัช พรรคเพื่อไทย

เป็นการช่วงชิงกันในรุ่นลูก คือ นายกิตติ กิตติธรกุล หมายเลข 2 จากพรรคภูมิใจไทย คนหนุ่มรุ่นใหม่หลานชายนายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แข่งกับ นายธนวัช ภูเก้าล้วน จาก พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 3 ลูกชายนายกีระติศักดิ์ ภูเก้าล้วน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ หลายสมัย

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายสาคร พรรคประชาธิปัตย์ เหนือกว่า พรรคภูมิใจไทย จากฐานคะแนนเสียงของพรรค และฐานคะแนนส่วนตัวของตระกูล

นายสาคร เกี่ยวข้อง พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 5 ชิงกับ นายถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 4 อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายสฤษฏ์พงษ์ พรรคภูมิใจไทย เหนือกว่าในฐานะแชมป์เก่า พรรคประชาธิปัตย์

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 1 สู้ศึกนางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 5 ที่ต้องการยึดพื้นที่คืน เนื่องจากที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของพื้นที่มายาวนาน

 

เลือกตั้ง 2566 : เนชั่นวิเคราะห์ ผลเลือกตั้ง ส.ส. ภาคใต้ 14 จังหวัด ครั้งที่ 1

2. ชุมพร มี 3  เขตเลือกตั้ง

จังหวัดชุมพร การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังคงเป็น 3 เขตเลือกตั้ง เช่นเดิม และเช่นกันชุมพรเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด จะมีเปลี่ยนพรรคบ้างก็แค่การเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดยนายสุพล จุลใส เอาชนะนายธีระชาติ ปางวิรุฬห์ จากพรรคประชาธิปัตย์ไปแบบขาดลอย

เลือกตั้งครั้งนี้ ตระกูลจุลใส ตระกูลการเมืองใหญ่ของชุมพร ที่นำโดยลูกหมี นายชุมพล จุลใส ย้ายมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้ต้องเป็นการเผชิญหน้ากับพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 3 เขตเลือกตั้งเป็นครั้งแรก หลังจากปี 2562 ลูกหมียังสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และรักษาพื้นที่ให้พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการชนะพรรคพลังประชารัฐที่มาแรงมากในปีนั้น ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ก่อนถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ก็ยังสนับสนุนนายอิสระพงษ์ มากอำไพ น้องภรรยา จากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ชนะในการเลือกตั้งซ่อม

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายอิสรพงษ์ พรรคประชาธิปัตย์ นำ นายวิชัย พรรครวมไทยสร้างชาติ อยู่ไม่มากนัก

นายวิชัย สุดสวัสดิ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 11 อดีตสจ.เขตสวี คนสนิทที่เป็นมือขวาของนายชุมพล จุลใส หรือ “ส.ส.ลูกหมี” ยกแรกแม้ลูกหมีจะมีพลังมากในเขตเลือกตั้งที่ 1 แต่เมื่อตัวลูกหมีไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง ทำให้กระแสส่วนตัวอาจแผ่วลงไป ขณะที่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดชุมพร บวกฐานเสียงส่วนตัวของ ส.ส.ตาร์ทที่มีภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ที่ชัดเจน ทำให้ส.ส.ตาร์ทจากพรรคประชาธิปัตย์ มีภาษีเหนือกว่านายวิชัยเล็กน้อย คู่นี้ในเขตนี้ ต้องไปวัดกระแส และกระสุนกันอีกรอบในช่วงโค้งสุดทายของการหาเสียง

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายสราวุธ พรรคประชาธิปัตย์ เหนือกว่า นายสันต์ พรรครวมไทยสร้างชาติ

นายสันต์ แซ่ตั้ง รวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 12 อดีตรองนายก อบจ.ชุมพรและหนึ่งในคนสนิทของ “ลูกหมี” นายชุมพล จุลใส สนามนี้เจอศึกหนัก จากตระกูล “อ่อนละมัย” ตระกูลการเมืองใหญ่อีกตระกูล เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่ง นายสราวุธ อ่อนละมัย พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายของอดีตส.ส.ชุมพรหลายสมัย ศิริศักดิ์ อ่อนละมัย เจ้าของพื้นที่ เขตนี้การประเมินรอบแรก นายสราวุธ จึงเหนือกว่า นายสันต์ เบียดกันแบบสูสี ขึ้นอยู่กับกระแสของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะส่งผลให้นายสันต์เกาะกระแสขึ้นชนะนายสราวุธในช่วงปลายเกมได้หรือไม่

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายสุพลยัง พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำแบบไม่เห็นฝุ่น

เขตนี้ นายสุพล จุลใส หรือ “ลูกช้าง” ที่เคยสวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย และชนะการเลือกตั้งในปี 2562 ปีนี้ย้ายมาสังกัด พรรครวมไทยสร้างชาติ งานนี้แม้จะมีคู่แข่งคือ นายมีศักดิ์ ภักดีคง พรรคประชาธิปัตย์ อดีตอธิบดีกรมประมง เป็นผู้ท้าชิง แต่คอการเมืองยังให้นายสุพลเหนือกว่าหลายช่วงตัว เพราะนายมีศักดิ์ ถือว่าใหม่มากสำหรับการเมืองระดับชาติ แม้ะสวมเสื้อประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะนายสุพลได้

 

3. ตรัง มี 4 เขตเลือกตั้ง

จังหวัดตรัง ในวันที่บารมีของนายหัวชวน นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยเริ่มแผ่ว วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ถูกท้าทายทั้งจากพลพรรคค่ายสีน้ำเงิน ภูมิใจไทยที่ระดมทัพใหญ่ลงมา และพรรคพลังประชารัฐซึ่งการเลือกตั้งในปี 2562 สามารถสร้างรอยแค้นให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของนายชวน หลีกภัยมาหลายสมัย เลือกตั้งปี 2566 จึงเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย

เขตเลือกตั้งที่ 1 หมอตุล พรรคประชาธิปัตย์ ยังเหนือกว่า นายกิตติพงษ์ พรรคพลังประชารัฐ

เขตนี้นายกิตติพงศ์ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ยังไม่สามารถยึดครองความได้เปรียบเหนือ นายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น จากพรรคประชาธิปัตย์ได้ เพราะฐานเสียประชาธิปัตย์ และเดิมพันครั้งสุดท้ายของนายหัวชวน ยังน่าจะขลังพอที่สนับสนุนหมอตุลที่เป็นคนใกล้ชิดของตระกูลหลีกภัย ให้มีคะแนนนำจนเข้าป้ายได้ แม้หมอตุลย์ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่เท่าที่ควรก็ตาม

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายสาทิตย์ พรรคประชาธิปัตย์ นำเหนือกว่า นายทวี พรรคพลังประชารัฐ

นายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.หลายสมัย ทำงานในพื้นที่ต่อเนื่อง ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือ นายทวี สุระบาล อดีตส.ส.รุ่นพีของนายสาทิตย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ รอบนี้ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ รอบนี้แม้นายทวีจะพกพาความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า แต่คอการเมืองยังให้นายสาทิตย์ได้เปรียบ ทั้งจากฐานคะแนนพรรค ฐานคะแนนส่วนตัว

เขตเลือกตั้งที่ 3 นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเขตเดียวของจ.ตรัง ที่เชื่อว่าชนะคู่แข่งขาดลอย

นางสาวสุณัฐชา หรือชื่อจีนว่า “ท่ามเอ้ง” นอกจากจะเป็นลูกสาวและรับไม้ต่อจาก โกหนอ นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ที่ทำงานการเมืองในพื้นที่มายาวนานต่อเนื่อง เหนียวแน่นในพื้นที่แล้ว โดยบุคคลิกของนางสาวสุณัฐชา ยังได้รับการยอมรับจากชาวตรังว่า เป็นคนอัธยาศัยดี อ่อนน้อม และเป็นสัญญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่อีกด้วย

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายกาญจน์ พรรคประชาธิปัตย์ นำ ผู้สมัครพรรคอื่นๆ

เขตนี้แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเปิดศึกสายเลือดในพรรค ระหว่างนายกาญขน์ กับ นายสมบูรณ์ อาจกระทบต่อฐานเสียงของทั้งคู่ที่อาจจะเสียงแตก และทำให้ นายดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์ จากพรรคภูมิใจไทย อดีตผู้สมัครพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 สอดแทรกเข้ามาเป็นตาอยู่คว้าเก้าอี้ ส.ส.เขตนี้ไปครอง เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นายดิษฐ์ธนิน พ่ายแพ้ให้กับ นางสาวสุณัฐชา โล่ห์สถาพรพิพิธ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีศักดิ์ เป็นลูกพี่ลูกน้อง ไปแบบไม่มากนัก

แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินรอบแรก พบว่า นายกาญจน์ จากประชาธิปัตย์ ยังคงยึดครองฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ และฐานเสียงส่วนบุคคลได้อย่างเหนียวแน่น และมากพอที่จะสู้ความพร้อมของนายดิษฐ์ธนินจากภูมิใจไทยได้

 

4. นครศรีธรรมราช มี 10 เขตเลือกตั้ง

จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็น 1 ใน 3 จังหวัดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะต้องคว้าเก้าอี้ส.ส.ให้มากที่สุด หากจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย 52 เก้าอี้ ที่นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประกาศเอาไว้ เลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้มาแค่ 5 ที่นั่ง จาก 8 เขต โดยเสียพื้นที่ให้กับพรรคพลังประชารัฐไป 3 เขต เลือกตั้งครั้งนี้เมื่อเพิ่มจาก 8 เขต เป็น 10 เขต ในขณะที่กระแสพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติ ทำให้ทุกพรรคต่างก็หมายมั่นจะเข้ามาขอแชร์ที่นั่งจากพรรคประชาธิปัตย์ ศึกเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นศึกหนักของพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายราชิต พรรคประชาธิปัตย์ นำนายรงค์ พรรคพลังประชารัฐ อยู่เล็กน้อย

นายรงค์ บุญสวยขวัญ จากพลังประชารัฐ แม้จะเป็นแชมป์เก่า และการประเมินรอบแรกดูเหมือนจะยังรักษาที่นั่งได้ แต่มีนายราชิต  สุดพุ่ม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีทีมงานในพื้นที่เข้มแข็งกำลังเร่งสร้างคะแนนไล่มาติดๆ จากฐานคะแนนพรรค และฐานคะแนนส่วนตัว ประกอบกับการทำงานถึงลูกถึงคนของทีมงานหาเสียง ทำให้ต้องไปวัดกันใค้งสุดท้ายอีกครั้งว่า ทีมงานของทั้ง 2 พรรคทีมไหนจะช่วงชิงคะแนนได้มากกว่ากัน

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายสายัณห์ พรรครวมไทยสร้างชาติ นำ 

แต่การประเมินยกแรก ยังให้นายสายัณห์ในฐานะแชมป์เก่า นำนายทรงศักดิ์ ผู้ท้าชิงอยู่เล็กน้อย ขึนอยู่กับนายสายัณห์จะแผ่วปลายหรือไม่ เพราะหากแผ่ว และกระสุนร่อยหรอ โอกาสที่นายทรงศักดิ์ ซึ่งได้เปรียบในฐานะเจ้าของพื้นที่จะขยับแซงเข้าป้ายจะมีสูงทันที

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายพิทักษ์เดช น้องชาย ส.ส.แทน ยังนำนายสัณหพจน์ พรรคพลังประชารัฐ โดยมีนายนนทิวรรธ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขยับตามมาห่างๆ

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง จากพลังประชารัฐ แชมป์เก่าในการเลือกตั้งปี 2562 แม้จะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสตอบรับจากมวลชนในพื้นที่ แต่ก็ต้องเจอศึกหนัก จากส.ส.แทน นายชัยชนะ เดชเดโช ส่ง น้องชาย นายพิทักษ์เดช หรือเท่ห์ เดชเดโช ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ในเขตนี้ นอกจากนั้น สัณหพจน์ ยังเจอตีกระหนาบมาอีกด้าน โดยนายนนทิวรรธ์ นนทภักดิ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ 

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายพงศ์สินธ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ นำนายอาญาสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย ไม่ห่างนัก

เป็นการช่วงชิงกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐ นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีตส.ส.จากครั้งที่แล้ว กับ นายพงศ์สินธ์ เสนพงศ์ น้องชายสุดรักของนายเทพไท ที่วันนี้สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีนายยุทธการ รัตนมาศ จากประชาธิปัตย์เป็นตัวสอดแทรก

เขตเลือกตั้งที่ 5 ส.ส.แทน พรรคประชาธิปัตย์ ยังนำขาด

เดิมพันครั้งสำคัญของ ส.ส. แทน นายชัยชนะ เดชเดโช จากประชาธิปัตย์ เขตนี้ส.ส.แทนยังนำขาดและรักษาเก้าอี้ไว้ได้ แต่ก็ใช่ว่า จะไม่มีคู่ต่อกร เพราะเขตนี้พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งอดีตสมาชิกสภาจังหวัด สจ.สนั่น พิบูลย์ เข้ามาประกบไม่ให้ แทน ทิ้งพื้นที่ไปช่วยผู้สมัครเขตอื่นได้อย่างสบายใจนัก

เขตเลือกตั้งที่ 6 นายประกอบ พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังน่าจะรักษาเก้าอี้ไว้ได้

ดร.โก้ ฉัตรชัย ธนาวุฒิ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ แข่งกับผู้อาวุโส นายประกอบ  รัตนพันธ์ อดีตส.ส.หลายสมัย จากพรรคประชาธิปัตย์ เขตนี้แม้กระแสนายกรัฐมนตรีจะมาแรง แต่ในการประเมินรอบแรก นายประกอบ รัตนพันธ์ จากประชาธิปัตย์ยังครองความได้เปรียบในฐานะเจ้าของพื้นที่ โดยเฉพาะคนในตระกูลรัตนพันธ์ที่มีจำนวนมาก  โดยมีตัวเลือกอันดับสามคือ  โกเช้า สมศักดิ์ แสงอารยะกุล จากภูมิใจไทยไล่ตามมาแบบกระชั้นชิด

เขตเลือกตั้งที่ 7 นายชินวรณ์ครองความได้เปรียบในฐานะอดีต ส.ส. แต่ช่วงโค้งสุดท้ายต้องติดตามว่า ทีมงานของนายอารีจะสามารถทำคะแนนให้กับนายเชษฐา ได้หรือไม่

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ จากประชาธิปัตย์ เจ้าของที่นั่งเดิมน่าจะรักษาตำแหน่งได้แบบหืดจับ เพราะพื้นที่เดิมของนายชินวรณ์ ถูกผ่าไปเป็นเขตเลือกตั้งที่ 8 ทำให้ผู้สมัครจากภูมิใจไทย นายเชษฐา  ขาวขำ อาศัยความเป็นคนพื้นที่ รวมทั้งการสนับสนุนจาก นายอารี  ไกรนรา อดีตหัวหน้าการ์ดคนเสื้อแดง ซึ่งย้ายจากพรรคเพื่อไทยมาสวมเสื้อปาร์ตี้ลิสต์พรรคภูมิใจไทย เนื่องจากนายอารี เป็นคนในพื้นที่นี้ และทำงานมวลชนในพื้นที่มานานตั้งแต่ยังสังกัดพรรคเพื่อไทย

เขตเลือกตั้งที่ 8 นางสาวปุณณ์ศิริ พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นอันดับหนึ่ง

เป็นอีกเขตที่ถูกจัดแบ่งใหม่ ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่เดิมของตระกูลบุณยเกียรติที่นายชินวรณ์ยอมหลบไม่ลงสมัครในเขตนี้ เพราะต้องการสนับสนุนลูกสาว นางสาวปุณณ์ศิริ บุณยเกียรติ ให้ลงสมัครในนามประชาธิปัตย์ แต่พื้นที่นี้ก็เป็นเขตอิทธิพลของนายอารี ไกรนรา เช่นกัน ทำให้แม้นางสาวปุณณ์ศิริ จะถูกจัดวางเป็นอันดับ 1 แต่ก็มีโอกาสถูกท้าทายจากมือใหม่ จาก นางมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล จากภูมิใจไทย ที่มีนายอารีสนับสนุน และมีคะแนนสูงอย่างน่าสนใจจากการเลือกตั้งในปี 2562  โดยมี นายสุนทร รักษ์รงค์ จากพลังประชารัฐ ผู้ที่มีความกว้างขวางในวงการชาวสวนยาง เป็นตัวสอดแทรกที่น่าสนใจ

เขตเลือกตั้งที่ 9 ส.จ.อวยพรศรี พรรคประชาธิปัตย์นำโด่ง ตามมาด้วย นายอำนวย พรรครวมไทยสร้างชาติ

เขตนี้ใหม่ทั้งหมด สจ.อวยพรศรี เชาวลิต จากประชาธิปัตย์ ยืนหนึ่งมาด้วยบารมีของสามี นายกเอ  ท่าศาลา นายอภินันท์ เชาวลิต เจ้าของฉายา เมียข้าใครอย่าแตะ ทำให้ส.จ.อวยพรศรี น่าจะมีคะแนนนำโด่ง โดยมีนายอำนวย ยุติธรรม น้องชายนายสายัณห์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงมาสมัครท้าทายบารมี และมีคนสนิทของนายอำเภอท่าศาลา หมอผึ้ง เภสัชกรหญิงนันทวัน วิเชียร  แห่งภูมิใจไทย ตามมาอย่างน่าสนใจเช่นกัน

เขตเลือกตั้งที่ 10 นางสาวพิมพ์ภัทรา พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังมีคะแนนนำในฐานะเจ้าของพื้นที่

เจ้าของพื้นที่เดิมคือ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล จากประชาธปัตย์ ที่ตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญ เดินออกมาไปร่วมกับรวมไทยสร้างชาติ รายนี้ยืนหนึ่งจากความนิยมและการทำการเมืองมาโดยตลอดแบบคุณภาพของบุคคล ส่วนประชาธิปัตย์ ส่ง ศิลปชัย สุนทรมัฎฐ์ มาหวังล้มยักษ์อย่างพิมพ์ภัทรา แต่น่าจะเป็นไปได้ยากมาก   และยังมี พันตรีประเสริฐ สายทองแท้ อดีต ผบ.รบพิเศษสิชล คนพื้นที่มาในค่ายภูมิใจไทย ตามมาห่างๆ

 

5. นราธิวาส มี 5 เขตเลือกตั้ง

จังหวัดนราธิวาส 1 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปจากยุคของอดีตส.ส.อย่างแพทย์หญิงพรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธิ์ นายนัจมุดดิน อูมา นายรำรี มามะ หรือแม้กระทั่ง นายเจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง เมื่อคนในตระกูลยาวอหะซัน ที่ขยับขึ้นมาจากฐานการเมืองในระดับท้องถิ่น เริ่มมีบทบาทมากขึ้น จากการขับเคลื่อนของ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส ประมุขของตระกูล การเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2548 จนล่าสุดปี 2562 ตระกูลยาวอหะซันได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ส.ทุกครั้ง

เพียงแต่ปี 2562 นายกูเซ็ง ตัดสินใจให้ลูกชายสองคน คือ  นายกูเฮง ยาวอหะซัน และนายวัชระ ยาวอหะซัน แยกกันลงสมัครคนละพรรค โดยนายวัชระ คนพี่ลงสมัครในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ส่วนนายกูเฮง คนน้องลงสมัครในนามพรรคประชาชาติ

ปี 2566 นายกูเซ็ง เปลี่ยนหน้าไพ่อีกครั้ง เมื่อตัดสินใจสนับสนุนให้นายวัชระ ย้ายมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งทำให้นายวัชระย้ายมาแล้วถึง 3 พรรค ส่วนนายกูเฮง ยังคงสังกัดพรรคประชาชาติ การเลือกตั้งรอบนี้จึงยังคงน่าจับตาเป็นพิเศษว่า ตระกูลยาวอหะซัน โดยเฉพาะนายวัชระ จะยังคงได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องกัน แม้จะเปลี่ยนพรรคมาแล้วถึง 3 พรรค

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายวัชระ พรรครวมไทยสร้างชาติ นำ หมอแว พรรคพลังประชารัฐ ที่ร้างสนามค่อนข้างห่าง

นายวัชระ ยาวอหะซัน  พรรครวมไทยสร้างชาติ รอบนี้มีเพียงหมอแว นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ จากพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่พอจะเป็นคู่แข่ง ส่วนผู้สมัครจากพรรคอื่นยังไม่น่าจะเจาะฐานการเมืองของตระกูลยาวอหะซันที่นับวันจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นไปได้ โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่ 1

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายเมธี พรรคประชาธิปัตย์ ยังนำคู่แข่งจากทั้งสองพรรคค่อนข้างเห็นได้ชัด

เขตนี้เคยเป็นพื้นที่ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงค่อนข้างแน่นหนา แม้การเลือกตั้งปี 2562 จะเสียที่นั่งให้กับพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นเพราะปีนั้นกระแสพลเอกประยุทธ์ค่อนข้างมาแรง บวกกับการทำงานหนักของกลุ่มเตรียมทหาร 12 เพื่อนประยุทธ์และกลุ่มร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ดังนั้นการเลือกตั้งปี 2566 พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่ง นายเมธี อรุณ นักร้องนำจากวงลาบานูนมาลงสนาม จึงคาดหวังที่จะทวงคืนเก้าอี้ส.ส.ในเขตนี้กลับมาให้ได้

นอกจากนั้น นายเมธี ยังมีเชือกวิเศษ คือ นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เป็นกองหนุนและควงแขนขอคะแนนชาวบ้านมานานนับปีแล้ว จึงมั่นใจว่า จะเอาชนะคู่แข่งนายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ จากพรรคพลังประชารัฐ  น้องชายนายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ อดีตส.ส.ในเขตนี้ และเอาชนะนายเจ๊ะซู ตาเหย็บ จากพรรคประชาชาติ ได้ไม่ยาก แม้อาจารย์วันนอร์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จะให้การสนับสนุนนายเจ๊ะซู ตาเหย็บ แบบตามประกบไม่ห่างก็ตาม

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายสัมพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ มีภาษีเหนือกว่า คู่แข่งทั้งสองคน

ต้องยกให้ นายมูหามะ รอมือลี อาแซ จากพรรคประชาชาติที่ออกสตาร์ทมาค่อนข้างแรง และเหมือนจะเหนือกว่านายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะจากพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งนายสุลัยมาน มะโซ๊ะ จากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฐานเสียงของพรรคประชาชาติในพื้นที่นี้ยังแข็งแกร่ง แต่ล่าสุดคนในพื้นที่ยังคงให้นายสัมพันธ์ จากพลังประชารัฐเหนือกว่าทั้งคู่ จากฐานส่วนของนายสัมพันธ์ และท่าทีของพลเอกประวิตรที่สั่งลุยเต็มที่

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายกูเฮง พรรคประชาชาติ นำค่อนข้างห่าง

ทั้งฐานเสียงของพรรค และฐานเสียงของตระกูล ทำให้ นายกูเฮง ยาวอหะซัน จากพรรคประชาชาติ ยังเหนือกว่าคู่แข่งคนอื่น แม้ว่า เขต 4 จะยังมีม้ามืดอีก 1 คนคือนายอามีร ซาริคาน รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลรือเสาะ จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ตาม เพราะนายอามีร ยังมีฐานคะแนนส่วนตัวที่ไม่มากพอจะก้าวมข้ามฐานคะแนนของนายกูเฮง และฐานคะแนนของพรรคประชาชาติได้ นอกจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะลงพื้นที่อ้อนขอคะแนนเสียงด้วยตัวเอง จึงจะพอมีโอกาสพลิกชนะได้

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายกมลศักดิ์ พรรคประชาชาติ ยังนำนายเจ๊ะอามิง พรรคประชาธิปัตย์ อดีตส.ส. 5 สมัยในระยะห่างที่ชัดเจน

ยังเป็นฐานเสียงของพรรคประชาชาติ ที่ส่งนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายคดีความมั่นคง ขวัญใจชาวบ้านในพื้นที่ลงสมัคร เขตนี้แม้อดีตส.ส. 5 สมัย นายเจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง จะหวนกลับมาลงสมัครนามพรรคประชาธิปัตย์อีกรอบ หลังจากย้ายไปสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทยของลุงกำนัน  แต่เมื่อสอบตกในการเลือกตั้งครั้งก่อน จนเปิดพื้นที่ให้กับพรรคประชาชาติ และนายกมลศักดิ์ ไปแล้ว โอกาสที่นายเจ๊ะอามิง จะกลับมาทวงบัลลังก์ส.ส.อีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในวันที่พรรคประชาธิปัตย์เริ่มโรยราในพื้นที่ 3 จังหวัดชยแดนภาคใต้ได้มากแล้ว

 

6. ปัตตานี มี 5 เขตเลือกตั้ง

สนามเลือกตั้งจังหวัดปัตตานี ในวันที่ตำนานการต่อสู้ของ หะยี สุหรง พ่อของนายเด่น โต๊ะมีนา เริ่มคลายความขลัง พร้อมๆกับสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้สนามการเลือกตั้งจังหวัดปัตตานีมีช่องว่างให้แต่ละพรรคพร้อมที่จะเข้ามาเจาะ เพื่อยึดครองเก้าอี้ส.ส.ในแต่ละเขต ทั้งประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่เก่า พรรคประชาชาติ พรรคที่มาแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายสนิท พรรคประชาธิปัตย์ นำ อาจารย์วรวิทย์ พรรคประชาชาติ

เขตนี้ ผู้สมัคร 3 คน จากพรรคประชาธิปัตย์ นายสนิท นาแว  ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์  บารู นักวิชาการคนดังในพื้นที่ จากพรรคประชาชาติ และคุณหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา ทายาทของนายเด่น โต๊ะมีนา จากพรรคภูมิใจไทย ล้วนมีโอกาสพอๆกัน แต่ในช่วงต้นเกมนายสนิท จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสไตล์ลูกทุ่งถึงลูกถึงคน และลงพื้นที่พบปะชาวบ้านมาโดยตลอด ออกนำอาจารย์วรวิทย์ และคุณหมอเพชรดาว แบบไม่ห่างมากนัก ทำให้ช่วงโค้งแรกคอการเมืองยังให้ นายสนิท มีโอกาสในรับเลือกมากกว่า โดยมีอาจารย์วรวิทย์ ตามมาติดๆ ส่วนหมอเพชรดาว ต้องรอลุ้นว่า กระแสไม่เอากัญชา จะแผ่วลงไป และกระแสในอดีตของตระกูลโต๊ะมีนา จะพลิกกลับมาแรงขึ้นหรือไม่

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ นำเล็กน้อย

การประเมินรอบแรกนี้ แม้นายอับดุลบาซิม จะยังเผชิญกับเรื่องของกัญชา ที่เป็นปัญหาใหญ่ในการหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย จนผู้สมัครในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหนื่อยหนักกับการอธิบาย และต้องเร่งชูแคมเปญ “พูดแล้วทำ” และชูนโยบายอื่นมากลบกระแสไม่เอากัญชาในพื้นที่ แม้นายอับดุลบาซิมจะพยายามลงพื้นที่ และรักษาพื้นที่มาโดยตลอด แต่ก็ไม่ทำให้นายอับดุลบาซิม มีคะแนนนำนายมนตรีได้ เพราะกระแสกัญชาที่ถูกโจมตีอย่างหนักถูกขยายผลได้อย่างเข้าเป้าในชุมชนมุสลิม

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายสมมติ พรรคประชาชาติ แชมป์เก่ายังนำแบบห่างๆ โดยมีดร.ยูนัยดี พรรคประชาธิปัตย์ ตามมาแบบพอมีลุ้น

นายสมมุติ เบญจลักษณ์ พรรคประชาชาติที่ครองแชมป์มาตลอด รอบนี้ ก็ยังคงลงในนามของพรรคประชาชาติ โดยมีคู่แข่ง คือ นายบูรฮันธ์ สะเม๊าะ จากพรรคพลังประชารัฐ และดร.ยูนัยดี วาบา เจ้าของโรงรียนสอนศาสนา จากพรรคประชาธิปัตย์

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายอริญชัย พรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะทำคะแนนนำออกไปก่อน

นายอริญชัย  ซูสารอ เป็นอีกคนที่มีโอกาสปักธงพรรครวมไทยสร้างชาติ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การผลักดันของนายอนุมัติ  ซูสารอ อดีตส.ส. พรรคประชาชาติ เจ้าของพื้นที่เดิม และกระแสคยามนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์  ทำให้นายอริญชัย แม้จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ และต้องแข่งกับว่าที่ร.ต.โมฮามัดยาสรี ยูซง จากพรรคประชาชาติ พรรคการเมืองที่มีจุดแข็งในพื้นที่ แต่นายอริญชัยก็ยังครองความได้เปรียบว่าที่ร.ต.โมฮามัดยาสรี อยู่เล็กน้อย

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายสาเหะมูหามัด พรรคประชาชาติ นำเล็กน้อย

การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้นายอันวาร์ จะต้องแข่งกับมวยกระดูกแข็งอย่าง นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส อดีตนายกเทศบาลตำบลตันหยง จากพรรคประชาชาติ ที่มีทั้งกระแสพรรค และกระแสบุคคล ซึ่งถือว่า เป็นผู้สมัครที่มาแรงในขณะนี้  การประเมินในช่วงต้น นายสาเหะมูหามัด มีคะแนนนำนายอันวาร์อยู่ในระดับหนึ่ง

 

7. พังงา มี 2 เขตเลือกตั้ง

จังหวัดพังงา แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ และการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีเพียงเขตเลือกตั้งเดียว แต่ก็เป็นจังหวัดบ้านเกิดของนายจุรินทร์  ลักษณะวิศิสฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พื้นที่นี้จึงสำค็ญอย่างใหญ่หลวง สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้  เพราะหากประชาธิปัตย์แพ้คู่แข่งในพังงา ก็เท่ากับจะกระทบภาพลักษณ์หัวหน้าพรรคไปด้วย

เลือกตั้งครั้งนี้ นางกันตวรณ ตันเถียร จากพรรคประชาธิปัตย์ ทายาทของโกส่าย บรม ตันเถียร ที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นส.ส.ในปี 2562  ครั้งนี้ก่อนประกาศจำนวนเขตเลือกตั้ง เกิอบเกิดดราม่าในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อนายราเมศ  รัตนชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นคนสนิทของนายชวน  หลีกภัย โพสต์ภาพที่ถ่ายในจังหวัดพังงา พร้อมแคปชั่นที่สื่อความหมายว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนี้ ทำให้นายกันตวรรณ เกือบตัดสินใจย้ายพรรค แต่มาสยบดราม่าได้สำเร็จ เมื่อกกต.ประกาศเขตเลือกตั้งให้จังหวัดพังงาได้เพิ่มมาอีกหนึ่งเขต เป็น 2 เขตเลือกตั้ง การจัดสรรจึงลงตัวให้นางกันตวรรณ ลงสมัครในพื้นที่เดิม คือ เขตเลือกตั้งที่ 1 ส่วนายราเมศลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 2 แต่เขตนี้นายราเมศต้องไปฟาดฟันกับกระดูกชิ้นโต คือ อดีตส.ส.สึนามิ กฤษ สีฟ้า เจ้าของพื้นที่ จากพรรคเพื่อไทย ส่วนนางกันตวรรณ ต้องไปสู้กับพรรคภูมิใจไทย ที่ส่งนายอรรถพล ไตรศรี อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา

เขตเลือกตั้งที่ 1 นางกันตวรรณ พรรคประชาธิปัตย์ ยังมีคะแนนนำ

การประเมินในยกแรก นางกันตวรรณ ตันเถียร พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 1 เจ้าถิ่น แม้หลายฝ่ายคาดว่า จะรักษาแชมป์ได้ไม่ยาก เพราะมีทั้งคะแนนพรรค มีทั้งคะแนนส่วนตัว แต่ก็ประมาทนายอรรถพล ไตรศรี จากพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ เพราะนายอรรถพลได้รับแรงอัดฉีดเต็มที่จากนายพิพัฒน์  รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมมีแรงหนุนจาก นายธราธิป ทองเจิม นายกองค์การบริหารจังหวัดพังงา ที่นำทีมสจ.พังงาทุกเขต  ขึ้นแสดงตัวสนับสนุนนายอรรถพลอย่างพร้อมเพรียงกันบนเวทีในวันเปิดตัวผู้สมัครส.ส.จังหวัดพังงาของพรรคภูมิใจไทย ทำให้นายอรรถพล ก็ถือว่า ไม่ใช่ไฟที่ไร้ควัน หากแต่ยังพร้อมลุกโชนขึ้นมาได้ตลอดเวลา

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายราเมศ พรรคประชาธิปัตย์ นำ

นายราเมศ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็เจอศึกหนักจากอดีต ส.ส.นายกฤษ ศรีฟ้า จากพรรคเพื่อไทย ที่หวนกลับมาทวงแชมป์คืน และมีกระแสดีถึงขั้นที่ว่าพรรคๆ หนึ่งเปิดทางไม่ลงสมัครเพื่อเทคะแนนให้กับนายกฤษ รวมทั้งนายกฤษ เป็นคนติดดิน และลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคที่ชาวบ้านมีภาพจำเกี่ยวกับนายกฤษ จากเหตุการณ์ครั้งที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ พัดเข้าถล่มชายหาดจังหวัดพังงา ที่นายกฤษทุ่มเทเข้าช่วยเหลือชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง แต่การเลือกตั้งรอบนี้ไม่เหมือนปี 2548 ซึ่งขณะนั้นกระแสพรรคไทยรักไทยมาแรงมาก แต่ครั้งนี้เป็นศึกศักดิ์ศรีของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพังงาเป็นจังหวัดของ จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์หัวหน้าพรรค ที่แพ้ไม่ได้อีกพื้นที่

 

8. พัทลุง มี 3 เขตเลือกตั้ง

จังหวัดพัทลุง การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์เสียที่นั่งให้กับพรรคภูมิใจไทยถึง 2 เขต คือเขตเลือกตั้งที่ 1 นายภูมิศิษฏ์ คงมี พรรคภูมิใจไทย เอาชนะนางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร พรรคประชาธิปัตย์ ไปเกือบหมื่นคะแนน และเป็นความพ่ายแพ้ของตระกูลธรรมเพชร เป็นครั้งแรกในจังหวัดพัทลุง

ไม่เพียงตระกูลธรรมเพชรเท่านั้นที่พ่ายในเขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคภูมิใจไทยภายใต้การสนับสนุนของนางนาที  รัชกิจประการ ยังเอาชนะนายนิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ อดีตส.ส.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างขาดลอยกว่าสองหมื่นคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ 2

พรรคประชาธิปัตย์รักษาเก้าอี้ส.ส.ในพัทลุงได้เพียงเขตเดียวจากชัยชนะของนายนริศ ขำนุรักษ์ ในเขตเลือกตั้งที่ 3 แต่ก็เป็นชัยชนะที่หืดจับ โดยนายนริศ เอาชนะนายเขมพล อุ้ยตยะกุล จากพรรคภูมิใจไทยไม่ถึง สี่พันคะแนน

การเลือกตั้งในปี 2566 จึงเป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ พรรคภูมิใจไทยที่นำโดยนางนาที รัชกิจประการ จะสยายอิทธิพลได้ครบทุกเขตหรือไม่ และตระกูลธรรมเพชรที่ครั้งนี้แยกส่งลงสมัคร 2 พรรคใน 2 เขต จะล้างตาทวงคืนบัลลังก์กลับมาได้ทั้ง 2 เขตหรือไม่

เขตเลือกตั้งที่ 1 นางสาวสุพัชรี พรรคประชาธิปัตย์ น่าจะขึ้นไปก่อน จากความได้เปรียบในฐานเจ้าของพื้นที่เดิม

น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร พรรคประชาธิปัตย์ แข่งกับ นายภุชงค์ วรศรี พรรคภูมิใจไทย โดยเขตนี้เดิมนางสาวสุพัชรี เคยพ่ายแพ้นายภูมิศิษฏ์ คงมี จากพรรคภูมิใจไทย แต่รอบนี้นายภูมิศิษฏ์ ไม่ได้ลงสมัครเนื่องจากถูกพักงานจากกรณีเสียบบัตรแทน  นางสาวสุพัชรีจึงมีคู่แข่งที่ไม่แข็งแกร่งมากนัก อย่างไรก็ตามแม้พรรคภูมิใจไทยจะส่งนายภุชงค์ ผู้สมัครหน้าใหม่ลงแข่งขัน แต่บารมีของเจ๊เปี๊ยะ นาที รัชกิจประการ ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่นางสาวสุพัชรีจะเอาชนะนายภุชงค์ได้ง่ายๆ

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายวรท พรรคภูมิใจไทย นำ ดร.เดย์ พรรคประชาธิปัตย์ แบบสู้กันสนุก

นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร พรรครวมไทยสร้างชาติเบอร์ 7 บุตรชายนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุงและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เจอกระดูกชิ้นใหญ่ ดร.เดย์ หรือ ปิยะกาญจน์ สุพรรณชนะบุรี  หมายเลข 3 พรรคประชาธิปัตย์ บุตรสาวนายสานันท์ สุพรรณชนะบุรี อดีต สส.จังหวัดพัทลุง 2 สมัย และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง นอกจากนั้นยังมีนายวรท เทอดวีระพงศ์จากพรรคภูมิใจไทย ที่มาแรงเช่นกัน

เขตนี้กระแสพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ดีวัน ดีคืนในภาคใต้ ไม่น่าจะทำให้นายนิติศักดิ์ได้เปรียบคู่แข่งทั้งสองคนได้ น่าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างดรซเดย์ จากประชาธิปัตย์กับนายวรท จากภูมิใจไทยเท่านั้น

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายร่มธรรม พรรคประชาธิปัตย์ นำ นายประเทือง พรรคภูมิใจไทย

นายประเทือง มนตรี พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 6 พี่ชายของนางนที รัชกิจประการ แม่ทัพพรรคภูมิใจไทยในเขตภาคใต้ จึงถูกมองว่าเขตนี้พรรคภูมิใจไทยแพ้ไม่ได้  แต่เมื่อต้องสู้กับนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 3 ลูกชาย นายนริศ ขำนุรักษ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่รั้งตำแหน่งรมช.มหาดไทยในปัจจุบัน ทำให้ไม่ง่ายที่นายประเทืองจะเอาชนะฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์และตระกูลขำนุรักษ์ได้

 

9. ภูเก็ต มี 3 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายนิพนธ์ พรรคภูมิใจไทย ขึ้นนำในยกแรก

“นิพนธ์ เอกวานิช” จากพรรคภูมิใจไทย  ด้วยชื่อเสียงความเป็นนักธุรกิจ และเมื่อดูนามสกุลถือว่าเป็นตระกูลใหญ่ระดับต้นๆของจังหวัดภูเก็ต แข่งกันสูสีพลิกได้ตลอดกับ “ปิยะ สีดอกบวบ”  จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งถือเป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ อยู่ในสนามการเมืองท้องถิ่น โดยทำหน้าที่เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา  และมีพ่อเป็นรองนายก อบจ.ภูเก็ต

เขตเลือกตั้งที่ 2 พลอยทะเลพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีภาษีดีกว่าในช่วงต้น

“พลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์” ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์กระแสดี มีความโดดเด่น เด็กรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจสูง ประกอบฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่เดิม แต่ต้องงัดกับ “เทมส์ ไกรทัศน์” จากพรรคชาติพัฒนากล้า เป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงอีกคน

เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชัยยศ ก็มีแต้มต่อไปก่อนเช่นกัน

“ชัยยศ ปัญยาไวย” จากพรรคประชาธิปัตย์ อดีต สว.ภูเก็ต ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร อดีตประธานสภาทนายความภูเก็ต  ด้วยบุคลิกที่เป็นกันเอง และเพื่อร่วมรุ่นที่อยู่ในแวดวงการเมืองต้องเจอคู่แข่งหน้าใหม่ “อรทัย เกิดทรัพย์” จากพรรคชาติพัฒนากล้า

 

10. ยะลา มี 3 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1นายประสิทธิ์ชัย พรรคประชาธิปัตย์ นำอยู่เล็กน้อย

นายประสิทธิ์ชัย พงษ์สุวรรณศิริ หมายเลข 12 จากประชาธิปัตย์ มีโอกาสพลิกเกมเอาชนะเจ้าถิ่นนายอาดิลัน  อาลีอีสเฮาะ หมายเลข 7 พลังประชารัฐ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าได้ส.ส.เพราะกระแส “ลุงตู่” ช่วยนั่นเอง แต่ประมาทผู้สมัครจากพรรคประชาชาติ นายสุไลมาน ปือแนปีแน ไม่ได้ เพราะเริ่มมีการสร้างฐานคะแนนในพื้นที่เขต 1 แบบเงียบๆ

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายซูการ์โน มะทา พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 เจ้าของพื้นที่ยังคงฐานเสียงแน่น เดินสายพบชาวบ้าน และมีคะแนนนิยมนำโด่งนายอิสกานดา สาแม จากพรรคเพื่อไทย แบบไม่เห็นฝุ่น

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายอับดุลอายี สาแม็ง พรรคประชาชาติ หมายเลข 10 ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยมีนายณรงค์ ดูดิง จากพรรคประชาธิปัตย์ตามมาห่างๆ

 

11. ระนอง มี 1 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ พรรคภูมิใจไทยหมายเลข 2 ยืนหนึ่งไร้คู่ต่อสู้แม้คู่แข่งนายวิรัช  ร่มเย็น พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 1 ประกาศขอท้าจริงแต่คอการเมืองมั่นใจฐานเสียงไม่มีเหลือ

 

12. สงขลา มี 9 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์

นายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข4 คะแนนนำเป็นการแข่งขันระหว่างนายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข4 ลูกชายนิพนธ์ บุญญามณี หากไม่ได้ส.ส.รอบนี้หมดอนาคตการเมืองจึงยอมไม่ได้ โดยมีนายเจือ ราชสีห์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข1 และนายประสงค์ บริรักษ์ พรรคภูมิใจไทยหมายเลข2 ที่พยายามเบียด

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายศาสตรา ศรีปาน พรรครวมไทยสร้างชาติ

นายศาสตรา ศรีปาน พรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 2 แชมป์เก่าฐานเสียงยังแน่น อิงกระแส ”ลุงตู่”ได้ผล โดยมีนายนิพัฒน์ อุดมอักษร พรรคประชาธิปัตย์หมายเลข 4 ตามหายใจรดต้นคอ เนื่องจากมีจูรี นุ่มแก้ว ดาวติ๊กต๊อกดังจากพรรคชาติพัฒนากล้า หมายเลข8เป็นตัวตัดแต้มแย่งคะแนนทั้งสองฝ่าย

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายสมยศ พลายด้วง พรรคประชาธิปัตย์

นายสมยศ พลายด้วง พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข4 เขตนี้เจ้าถิ่นนายพยม พรหมเพชร  รวมไทยสร้างชาติ หมายเลข8 เริ่มหมดฤทธิ์แม้จะมีกระแสลุงตู่ช่วยแต่ผลงานไม่ปรากฏ ทำให้คู่แข่งที่เข้ามาท้าชิงขย่มแรง โดยเฉพาะนายสมยศ พลายด้วง หรือโกทึก ที่ครบองค์เงินหนา บารมีถึง นับวันยิ่งมั่นใจได้ขึ้นแท่นส.ส. แม้จะมีกระดูกเบอร์ใหญ่อย่างไพร พัฒโน หมายเลข 1 จากพรรคภูมิใจไทยขวางลำ อยู่แต่กระแสไม่นิ่งพอ

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว พรรคประชาธิปัตย์

นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว จากประชาธิปัตย์หมายเลข 6 เข้าวิน เนื่องจากเจ้าของเดิมมีปัญหาสุขภาพและผลงานไม่มีทำให้ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี จากรวมไทยสร้างชาติ หมายเลข3 ไม่ปัง ถูกคู่ปรับเก่าชัยวุฒิ ที่เคยแพ้แค่ 400คะแนนเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกลับมาทวงคืนเก้าอี้  แม้จะมีว่าที่ร.ต.ไกรธนู แกล้วทนงค์ สจ.เต้ง จากภูมิใจไทย หมายเลข7 เข้ามาตัดแต้มแต่น่าจะกระทบคะแนนฝั่งร.ต.อ.อรุณมากกว่า

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายเดชอิศว์ ขาวทอง  พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข3 เต็งหนึ่งยืนหนึ่งมาแบบไร้คู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 6 สุภาพร กำเนิดผล  พรรคประชาธิปัตย์

สุภาพร กำเนิดผล  พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข2 กระแส ส.ส.หญิงคนแรกของสงขลาบวกกับบารมีของสามี “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง บวกกับความน่ารักเข้าถึงชาวบ้านทำให้ยังคงอยู่ในกระแสนิยม แม้ต้องเจอคู่ปรับหน้าเดิมจากพลังประชารัฐนายอนุกูล พฤษานุศักดิ์  หมายเลข5 คนรุ่นใหม่จริงแต่ไม่มีแบคอัพกองหนุนจะ ”ลุงป้อม”หรือ “ลุงถาวร เสนเนียม” ที่เคยเกื้อหนุนรอบนี้เงียบ

เขตเลือกตั้งที่ 7 นายณัฎชนนฐ์ ศรีก่อเกื้อ  พรรคภูมิใจไทย

นายณัฎชนนฐ์ ศรีก่อเกื้อ  พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 4 ในฐานะส.ส.เจ้าถิ่นนายณัฎชนนฐ์ ศรีก่อเกื้อ เดินสายพบชาวบ้านต่อเนื่องแม้ก่อนหน้านี้จะถูกศัตรูคู่อาฆาต นายศิริโชค โสภา ประชาธิปัตย์ หมายเลข 2 เตะตัดขากินหินดินทรายและถนนในพื้นที่แต่แผลไม่ลึกทำให้กลับมาได้ แต่รอบนี้ต้องเหนื่อยเพิ่ม 2 เท่าเพราะคู่แข่งม้ามืดจากพรรคประชาชาตินายอับดุลเราะมัน มอลอ หมายเลข 1 หรือ “อาจารย์เบ็น” ผู้นำศาสนาและเจ้าของโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่อาจดึงคะแนนเสียงจากชาวไทยมุสลิมได้

เขตเลือกตั้งที่ 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 7 ได้ชัวร์ๆ ลอยลำไร้คู่แข่ง  

เขตเลือกตั้งที่ 9 นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง พรรคประชาธิปัตย์ นำขาด

นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 1 จองแล้วเป็นเขตใหม่ที่นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง หรือสิงโต ลูกชายนายกชายเดชอิศม์ ประกาศจองพื้นที่ตั้งแต่ไก่โห่ก็คงไม่พลาด แม้จะมีคนรุ่นใหม่จากอีก2 พรรค คือชาติพัฒนากล้านายพงศธร สุวรรณรักษา หรือ ทนายอาร์ม หมายเลข8 และนายสมชาย เล่งหลัก พรรคภูมิใจไทย หมายเลข7 ลงชิงชัยก็ตาม

 

13. สตูล มี 2 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายพิบูลย์ รัชกิจประการ พรรคภูมิใจไทย แชมป์เก่าน้องชายรัฐมนตรีว่าการกระรวงท่องเที่ยวและกีฬา “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ที่ฐานเสียงยังแน่น ไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายวรศิษฐ์ เลียงประสิทธิ์ หรือ “โกแพ”พรรคภูมิใจไทย ที่มีคะแนนทิ้งห่าง พรรคประชาธิปัตย์ยุคนั้นชนิดไม่เห็นฝุ่น และที่ผ่านมาเดินสายสร้างเครือข่ายทำงานสังคมโดยมีผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นนักธุรกิจผู้กว้างขวางคอยซับพอร์ตเต็มที่

 

14. สุราษฎร์ธานี มี 7 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ พรรคประชาธิปัตย์

นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ยังดีความได้เปรียบคือประวัติดี ฐานเสียงเก่า เด็กในคาถานายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนทั้งครอบครัว ขณะที่ กานสินี โอภาสรังสรรค์ (กาญจนะ ) รวมไทยสร้างชาติ คู่แข่ง มีข้อด้อยความที่เป็นลูกสะใภ้ของชุมพลและโสภา กาญจนะ (โดยสามีของกานสินีหรือฉายา อ้วน ชุมพล )มีประวัติโชกโชน เคยต้องคดีหลายคดีและเป็นข่าวครึกโครมในทางที่เสียหายหลายต่อหลายครั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี (ส.ส.เก่า1 สมัย ) พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายนายประวิช นิลวัชรมณี อดีต ส.ส. 7 สมัย ความได้เปรียบคือประวัติดี พ่อแม่ชาติตระกูลดี ความอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอต้นเสมอปลาย

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายปิยะรัฐ จิรัตน์ฐิกุล พรรคประชาธิปัตย์

นายปิยะรัฐ จิรัตน์ฐิกุล พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายของนายสุภณ จิรัตน์ฐิกุล อดีตนายกเทศมนตรีตำบลเวียงสระ ความได้เปรียบตรงที่เป็นฐานเสียงเก่าหรือหัวคะแนนหลักของ ปชป. แม้ว่าจะต้องแข่งกับแม่เหล็กอย่าง น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ (จ๋า)อดีต ส.ส.ปชป.ลูกสาวของชุมพลและโสภา กาญจนะก็ตาม แต่ความเป็นคนรุ่นใหม่ของจ๋ายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะรู้จักบารมีของพ่อแม่มากกว่า

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายสมชาติ ประดิษฐพร (ส.ส.เก่า 1 สมัย ) พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปรียบความเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน ประวัติดี

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 5 สมัย) เขตนี้นอนมาก็ยังได้ ชาวบ้านรักมิเปลี่ยนแปลง ไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 6 อนงค์นาถ จ่าแก้ว พรรครวมไทยสร้างชาติ

อนงค์นาถ จ่าแก้ว หรือ น้องแจง พรรครวมไทยสร้างชาติ ลูกสาวของ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ที่ถึงกับลั่นปากว่าเขตนี้แพ้ไม่ได้ ขณะที่คู่แข่งที่หายใจรดต้นคอคือ พรรคประชาธิปัตย์ นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ (ส.ส.เก่า )ลูกชายนางนิภา พริ้งศุลกะ อดีต ส.ส.ปชป.7สมัย เขตนี้ยังรอลุ้นหรืออาจจะเหนื่อย 

เขตเลือกตั้งที่ 7 ตวงทอง ประดิษฐพร พรรคประชาธิปัตย์ นำขาด

ประชาธิปัตย์ส่ง น.ส.ตวงทอง ประดิษฐพร คนรุ่นใหม่ อดีต ส.อบจ.เขต อ.พุนพิน หลานสาวนายสมชาติ ประดิษฐพร (เขต 4 )ที่ผันจากเวทีท้องถิ่นลงสู่สนามระดับชาติ ซึ่งมีประวัติดีงามไม่มีอะไรด่างพร้อย เขตนี้แม้จะต้องแข่งกับธานินทร์ นวลวัฒน์ จากรวมไทยสร้างชาติเด็กในคาถาของพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว แต่ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความน่ารักของ ตวงทอง ปชป.ยังสามารถครองใจชาวบ้านทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ได้ไม่ยาก